แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ตำแหน่งพนักงานผู้รักษาอาคารชลประทาน จำเลยมิใช่พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยโดยระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 100 เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่), 100 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยโดยระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ที่ใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำผิดนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะบทบัญญัติมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการหรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใด ผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือร่วมมือสนับสนุนในการกระทำดังกล่าวไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” แต่จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ตำแหน่งพนักงานผู้รักษาอาคารชลประทาน จำเลยมิใช่พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยโดยระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ข้อหาความผิดของจำเลยในคดีนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องโดยไม่มีการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ แต่สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องโจทก์นั้น ย่อมรวมถึงความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 และในกรณีที่พนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐกระทำผิดดังกล่าว มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยมาในฟ้องแล้ว ความผิดฐานนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่), 100 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นั้น ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่โทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยนั้นไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้เกินกว่า 3 ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น ทั้งยังจะเป็นการเพิ่มเติมโทษอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงแก่จำเลยนั้น ต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งจำเลยต้องได้รับโทษอันเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และยาเสพติดให้โทษเป็นปัญหาสำคัญของประเทศมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของชาติ การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นับเป็นต้นเหตุทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น จึงไม่เป็นเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1