คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 ไม่ได้กำหนดว่าการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดที่จะถือเป็นเหตุเพิ่มโทษจะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลใด คำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวจึงย่อมหมายความถึงคำวินิจฉัยชี้ขาดศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นใดที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลทหารจึงเป็นศาลที่ใช้อำนาจตุลาการด้วย ดังนั้น การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดที่จะถือเป็นเหตุเพื่มโทษตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ นั้น ย่อมหมายความรวมถึงการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของศาลทหารด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลทหารกรุงเทพในคดีหมายเลขแดงที่ 144/2546 ให้จำคุก 13 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 67, 97 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ศาลยุติธรรมและศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาแยกต่างหากจากกัน คำพิพากษาจึงแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันชัดเจน จึงไม่อาจนำคดีที่ศาลทหารพิพากษาแล้วมาเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” จะเห็นได้ว่าตามบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดที่จะถือเป็นเหตุเพิ่มโทษจะต้องเป็นคำพิพากษาของศาลใด คำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวจึงย่อมหมายความถึงคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นใดที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 281 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลทหารจึงเป็นศาลที่ใช้อำนาจตุลาการด้วย ดังนั้น การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดที่จะถือเป็นเหตุเพิ่มโทษตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้น ย่อมหมายความรวมถึงการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของศาลทหารด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share