คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับโดยเห็นว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 4 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 1 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ข้อหาชิงทรัพย์ให้ยก กรณีจึงเป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124” เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยคดีของโจทก์จึงยุติไปตามคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี กำหนดโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าว แล้วนำมาบวกเข้ากับโทษหรือระยะเวลาฝึกและอบรมของจำเลยในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ (ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 นครสวรรค์) มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ส่วนที่โจทก์ขอให้กำหนดโทษและบวกโทษนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลพิพากษาส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจฯ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยไม่เป็นประโยชน์ ไม่ลดโทษให้อีก เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ข้อหาชิงทรัพย์ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ โดยเห็นว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 4 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ข้อหาชิงทรัพย์ให้ยก กรณีจึงเป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124″ เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย คดีของโจทก์จึงยุติไปตามคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น…”
พิพากษายืน

Share