คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ทำหนังสือรับรองจะชดใช้ความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายตอนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งคนการ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานเก็บเงินในห้องอาหารและได้ให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันเพิ่มเติมจากหนังสือรับรองของจำเลยที่ 3 และไม่ปรากฏในทางปฏิบัติของโจทก์ว่าลูกจ้างโจทก์ต้องมีหนังสือรับรองตอนเข้าทำงานและต้องทำหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งแต่อย่างใด ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ต้องผูกพันตามหนังสือรับรองโดยให้จำเลยที่ 4 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แทน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในกรณีจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินจากห้องอาหารโจทก์
ฎีกาในปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ จำเลยที่ ๑ ทุจริตยักยอกเงินรายได้ส่วนหนึ่งของบริษัทโจทก์จากการขายอาหาร เครื่องดื่มและค่าบริการห้องอาหาร โดยนำเอาสำเนาใบเสร็จรับเงินบางฉบับพร้อมกับเงินสดบางส่วนออกไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินได้ประมาทละเลยต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ สามารถทำการทุจริตได้จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทโจทก์ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทโจทก์แต่ไม่มีหน้าที่ตรวจนับจำนวนเงินตามใบเสร็จ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ การที่จำเลยที่ ๑ ทุจริตยักยอกทรัพย์ของบริษัทโจทก์ไม่ใช่เหตุโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าได้รับรองจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งคนการภารโรง แต่โจทก์เปลี่ยนตำแหน่งให้จำเลยที่ ๑เป็นพนักงานเก็บเงินโดยไม่บอกให้จำเลยที่ ๓ ทราบ โจทก์มีระเบียบการค้ำประกัน คือตำแหน่งพนักงานการเงินให้ผู้ค้ำประกันไปลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นประจำทุกปี จำเลยที่ ๑ ในตำแหน่งพนักงานการเงิน มีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้วจำเลยที่ ๓ จึงหลุดพ้นจากการเป็นผู้รับรอง หรือผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๔ ให้การว่าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในวงเงินไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๔ ควรรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ทำงานผิดพลาดโดยมิได้มีเจตนาทุจริต
จำเลยที่ ๕ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๕ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๗๗,๐๒๑.๔๐ บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือรับรองค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ไม่ได้จำกัดว่าเป็นการรับรองค้ำประกันจำเลยที่ ๑ เฉพาะในตำแหน่งนักการภารโรง และไม่ได้มีกำหนดเวลา แม้โจทก์จะได้ออกระเบียบการค้ำประกันพนักงานการเงินขึ้นไว้โดยเฉพาะ และจำเลยที่ ๑ ได้มีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ก็เป็นการค้ำประกันเพิ่มเติม ไม่มีการยกเลิกหนังสือรับรองค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ และจำเลยที่ ๓ ก็มิได้บอกเลิกการรับรองค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๙ จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๓ ได้ทำหนังสือรับรองจะชดใช้ความเสียหายกรณีที่จำเลยที่ ๑ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ให้โจทก์ไว้เมื่อตอนที่จำเลยที่ ๑ เข้าทำงานกับโรงแรมของโจทก์ ปรากฏตามใบสมัครเข้าทำงานของจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย ล.๔ ว่า จำเลยที่ ๑ ได้บรรจุเข้าฝึกหัดทดลองทำงานในตำแหน่งคนการก่อน ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ ๓ ทำหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๑๔ การทำหนังสือรับรองของจำเลยที่ ๓ จึงเห็นได้ว่าเป็นการรับรองเนื่องจากโจทก์รับจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานในตำแหน่งคนการนั่นเอง แม้หนังสือรับรองดังกล่าวจะไม่ได้จำกัดว่าเป็นการค้ำประกันจำเลยเฉพาะในตำแหน่งดังกล่าวและไม่ได้มีกำหนดเวลาดังโจทก์ฎีกาก็จริง แต่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานเก็บเงินในห้องอาหารและได้ให้จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในวงเงินไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ ทั้งนี้เป็นไปตามมติของกรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งกำหนดให้พนักงานการเงินประจำห้องอาหารต้องมีผู้ค้ำประกันภายในวงเงินคนละ ๑๐,๐๐๐ บาทและต้องมีการค้ำประกันปีต่อปี การที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ นี้ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการค้ำประกันเพราะจำเลยที่ ๑ เปลี่ยนตำแหน่งจากคนการมาเป็นพนักงานการเงินนั่นเอง หนังสือค้ำประกันดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ ๑ เพิ่มเติมจากหนังสือรับรองที่จำเลยที่ ๓ ทำไว้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ทั้งไม่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติของโจทก์ลูกจ้างของโจทก์ต้องมีหนังสือรับรองตอนเข้าทำงานและต้องทำหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมเมื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ตรงกันข้ามฝ่ายจำเลยที่ ๓ อ้างจำเลยที่ ๑ มาเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้เลื่อนตำแหน่งจากคนการเป็นพนักงานการเงิน ทางโจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ไปหาคนมาค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ไปหาจำเลยที่ ๓ เพื่อจะให้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยที่ ๓ ไปต่างประเทศจึงได้ขอให้จำเลยที่ ๔ ซึ่งอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ ๓ ไปทำสัญญาค้ำประกันให้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้กำหนดว่าผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งหากว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ได้ไปต่างประเทศและจำเลยที่ ๑ นำจำเลยที่ ๓ ไปเป็นผู้ค้ำประกันได้ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๓หลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือรับรองมารับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทน การปฏิบัติระหว่างโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ ๓ ต้องผูกพันตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๑๔ ต่อไปอีก โดยให้จำเลยที่ ๔ เข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ แทน จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายด้วยจำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเต็มตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ และ ๒๒๓ และจำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นหรือร่วมมือกับการทุจริตของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ มิได้กระทำโดยผิดกฎหมายไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยที่ ๒ หาได้ยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
พิพากษายืน.

Share