แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่1ฐานยักยอกเงินของโจทก์ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่1และให้คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์แล้วโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาได้อยู่แล้วตามป.วิ.อ.มาตรา249,253หากรื้อฟื้นคดีส่วนแพ่งนั้นมาฟ้องใหม่โดยเรียกค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติมย่อมเป็นฟ้องซ้ำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่1ต้องรับผิดใช้หนี้ที่ทุจริตในการทำงานโดยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไปจำเลยที่2ที่3ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดในการทำงานของจำเลยที่1ย่อมต้องรับผิดชดใช้แทนจำเลยที่1ตามสัญญาค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ยด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1ได้ทุจริตยักยอกเอาเงินสดและเช็คเงินสดของโจทก์ไป 126,052 บาท ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้วขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน126,052 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่าเงิน 126,052 บาท ที่โจทก์ฟ้องสูญหายไปหลังจากจำเลยที่ 1 ลาออกแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์126,052 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ 1,500 บาท แทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในข้อที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ 126,052 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาว่าทุจริตยักยอกเงินจำนวน 126,052 บาท ของบริษัทแหลมทองผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โจทก์ในคดีนี้ไป เมื่อระหว่างวันที่ 6 ถึง 15 กันยายน 2522 และขอให้จำเลยที่ 1 คืน หรือใช้เงินจำนวน 126,052 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย โจทก์ในคดีนี้ในฐานะผู้เสียหายได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วางโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้ผู้เสียหายบางส่วน จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไว้มีกำหนดสองปี คงปรับสถานเดียว ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 126,052 บาทแก่เจ้าของ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 707/2523 ของศาลจังหวัดนครปฐม ดังนี้โจทก์ไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมในคดีนี้อีก เพราะพนักงานอัยการได้เรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43, 44, 47 โดยเฉพาะโจทก์ในคดีนี้ก็ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวนั้นด้วย ย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 707/2523 ซึ่งมีคดีส่วนแพ่งปนอยู่ด้วย และโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีส่วนแพ่งตามคำพิพากษานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249, 253 อยู่แล้ว โจทก์จะรื้อฟื้นคดีส่วนแพ่งนั้นมาฟ้องใหม่โดยเรียกค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติมในคดีนี้อีกย่อมเป็นฟ้องซ้ำ อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ที่จำเลยฎีกาที่ จำเลยที่ 1 มิได้ยักยอกเงินของโจทก์นั้น เป็นการเถียงข้อเท็จจริงอันฝ่าฝืนต่อข้อเท็จจริงในคดีอาญา ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ไปจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ว่าได้รับเงินของโจทก์ไว้รวมทั้งสิ้น 126,052 บาท และไม่ได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของบริษัทและนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียซึ่งเป็นระยะเวลาในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโจทก์อยู่ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่มีพยานมาสืบหักล้างหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้แต่อย่างใดจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้หนี้ที่ทุจริตในการทำงานโดยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นจำนวน 126,052 บาท ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานก็ย่อมต้องรับผิดชดใช้แทนจำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ และการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จึงย่อมคุ้มถึงค่าดอกเบี้ยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์126,052 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจึงเป็นการชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3ก็เป็นฟ้องซ้ำด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญานั้นด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 คงให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ด้วย.