แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้ จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่ และไม่สามารถหางานอื่นที่เหมาะสมให้ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การที่ผู้อำนวยการของจำเลยออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบ รวมทั้งมีอำนาจอนุมัติลาออก เลิกจ้าง ให้ออก ไล่ออกพนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้อำนวยการของจำเลย เป็นคำสั่งในทางบริหารงาน มิใช่เป็นการมอบอำนาจโดยเฉพาะ และมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใดอันพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร คำสั่งดังกล่าวซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้จัดการเขตการเดินรถจึงมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานขับรถ ต่อมาโจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แพทย์มีความเห็นว่าโจทก์ควรทำงานบนพื้นดิน ผู้จัดการเขตการเดินรถออกคำสั่งถึงโจทก์ว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถ ต้องทำงานเบาหน้าที่อื่น และจำเลยไม่สามารถหาตำแหน่งงานหน้าที่อื่นที่เหมาะสมให้ปฏิบัติเป็นการประจำต่อไป จึงให้เลิกจ้างโจทก์ ซึ่งผู้จัดการเขตการเดินรถดังกล่าวไม่มีอำนาจสั่งเลิกจ้าง ทั้งเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์หายจากโรคเบาหวานแล้ว ขอให้พิพากษายกคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเงินโบนัส ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการของบุตร เงินค่าบำรุงการศึกษาของบุตร และค่ารักษาพยาบาลพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่สามารถทำงานให้กับจำเลยในหน้าที่พนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจในการจ้างและเลิกจ้างภายในอัตรากำลังได้ตามคำสั่งของจำเลย คำสั่งเลิกจ้างจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายเงินใด ๆ ให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้ และจำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรคนี้หรือไม่ จำเลยไม่สามารถหาตำแหน่งงานหน้าที่อื่นที่เหมาะสมให้ได้จึงได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ส่วนการที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเลิกจ้างพนักงานของจำเลยไว้ว่าพนักงานที่ถูกยุบเลิกหน่วยงานหรือตำแหน่งงานและองค์การ ฯ ไม่สามารถจัดหางานอื่นที่เหมาะสมให้ถือปฏิบัติเป็นการถาวรได้ให้เลิกจ้างนั้น หมายถึงพนักงานที่ยังมีความสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ แต่ต้องถูกยุบเลิกหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ หรือยุบเลิกตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ และจำเลยไม่อาจหาตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมได้จึงมีสิทธิเลิกจ้างเท่านั้น หาใช่มีความหมายว่า หากพนักงานผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะความป่วยเจ็บ ไร้ความสามารถหรือหย่อนสมรรถภาพด้วยเหตุของสุขภาพอนามัยแล้วจำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างได้ กรณีของโจทก์หาขัดต่อบันทึกดังกล่าวไม่
ผู้อำนวยการของจำเลยได้มีคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบ โดยกำหนดอำนาจทั่วไป อำนาจบริหารงานบุคคล ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอำนาจอนุมัติและลงนามคำสั่งหรือสัญญาบรรจุ จ้าง แต่งตั้งย้าย ลาออก เลิกจ้าง ให้ออก ไล่ออกพนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดได้ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่ เป็นคำสั่งในทางบริหารงานซึ่งมิใช่เป็นกรณีมอบอำนาจให้แก่ผู้จัดการเขตการเดินรถโดยเฉพาะและมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใดอันพึงต้องติดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรไม่ คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย และผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้
พิพากษายืน.