คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6348/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
หนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงหรือต่ำกว่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และ พ. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่ทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้ผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และ พ. นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีก็มิใช่อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 3 แต่อย่างใด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,514,126.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,880,319.68 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ออกแทนจำเลยทั้งสอง 3 ปี ต่อครั้ง ครั้งละ 5,237.65 บาท ทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 เป็นต้นไป หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินที่จำนอง รวมตลอดทั้งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และทรัพย์มรดกของนายพูนสินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,980,686.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 1,880,319.68 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 5,237.65 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 41698 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนายพูนสิน ชุติมาวรวงษา ที่ตกได้แก่ตน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทของนายพูนสิน ชุติมาวรวงษา ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 และนายพูนสินร่วมกันกู้เงินโจทก์ 2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 และนายพูนสินร่วมกันกู้เงินโจทก์เพิ่มอีก 270,000 บาท เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2540 ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.11 ในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 และนายพูนสินจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ และยอมเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง นับแต่ทำสัญญาโจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ต่อมาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์ปรับอัตราสูงขึ้นนั้นเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจลดลงได้หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคาร สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และนายพูนสินในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่ทำสัญญาได้อยู่แล้วแม้ยังมิได้ผิดนัดหรือผิดสัญญา อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี และต่อมาในระหว่างสัญญาโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและต่ำลงหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และนายพูนสินนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาโดยยังไม่คิดดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 1 วรรคสอง ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และแม้ว่าสัญญาข้อ 3 จะระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดในข้อ 1 ได้ก็ตามแต่ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ก็มิใช่อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 3 แต่อย่างใด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จึงหาใช่เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2546 จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ 1,980,686.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,880,319.68 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share