แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ส. จำกัด ไม่ต้องระบุว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ นั่งรถยนต์รับจ้างสามล้อที่ ก. เป็นผู้ขับขี่แล่นมาถึงบริเวณใกล้ที่พักผู้โดยสารประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา โฉมหน้าจากสถานีขนส่งสายใต้ไปทางสามแยกท่าพระถูกรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 81 คันหมายเลขทะเบียน กท.จ.3991 พุ่งเข้าชนนั้นย่อมชัดแจ้งเข้าใจได้แล้วว่ารถชนกันที่ใด ส่วนค่าเสียหายโจทก์บรรยายฟ้องแยกชนิดประเภทความเสียหายว่าเป็นเงินส่วนละเท่าใด ความเสียหายที่ทำให้โจทก์เสียฆานประสาทก็บรรยายฟ้องว่าไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่นอีก ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสเป็นการฟ้องตามสิทธิที่มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามี โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ แต่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่เกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลัง คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 มาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่ารถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์รับจ้างสามล้อที่โจทก์นั่งมาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกระทำละเมิดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายตามคำร้องขอแก้ฟ้องขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินไปขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และมิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์เรียกสูงเกินไป ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 86,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 และที่ 3ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า บุคคลใดเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และไม่บรรยายให้ชัดเจนว่ารถคันใดชนกันและชนกันที่ใด ทั้งไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายว่าค่าจ้างพยาบาลเฝ้าไข้ ค่าไฟฟ้าค่าห้องพิเศษคิดอัตราวันละเท่าใด และโจทก์เสียหายประสาทอย่างไรทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงตัวจำเลยที่ 2 แล้วว่าเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัทสหขนส่งธนบุรี จำกัด ส่วนผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการแทนก็เป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 2 เอง จึงไม่ต้องระบุว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำการแทน ส่วนรถชนกันนั้นโจทก์บรรยายระบุว่ารถยนต์รับจ้างสามล้อที่นายบุญชอบ อุทรารัมย์ เป็นผู้ขับขี่วิ่งระหว่างสถานีขนส่งสายใต้ถึงท่าน้ำศิริราชขณะเกิดเหตุรถยนต์รับจ้างสามล้อแล่นมาถึงบริเวณใกล้ที่พักผู้โดยสารประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา โฉมหน้าจากสถานีขนส่งสายใต้ไปทางสามแยกท่าพระ มีรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 81 คันหมายเลขทะเบียน กท.จ.3991 พุ่งเข้าชนท้าย รถยนต์รับจ้างสามล้อคันที่โจทก์นั่งมาเป็นการบรรยายที่ชัดแจ้งเข้าใจได้แล้วว่ารถชนกันที่ใด ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องแยกชนิดประเภทความเสียหายเป็นเงินส่วนละเท่าใดแล้ว ความเสียหายทำให้โจทก์เสียฆานประสาทโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่นได้อีก ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าจ้างเฝ้าไข้ ค่าไฟฟ้า ค่าห้องพิเศษอัตราวันละเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
ปัญหาข้อ 2 เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยสามีมิได้ยินยอม หลังจากโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์ส่งหนังสือความยินยอมของสามีตามเอกสารหมาย จ.6 การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีสามีก็ไม่จำต้องให้สามีให้ความยินยอมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อ 3 ที่ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 123,195 บาท ต่อมาได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมทุนทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 140,610 บาท โดยอ้างว่ามิได้เรียกค่ายารักษาพยาบาล ค่าเสียหายส่วนที่เกินจึงขาดอายุความ เพราะโจทก์ขอเพิ่มเติมเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวที่จะใช้ค่าเสียหายแล้ว เห็นว่าเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลัง ก็หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ คดีโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อที่ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้นเห็นว่าเกี่ยวกับรถชนกันนี้ โจทก์มีตัวโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่ารถยนต์โดยสารประจำทางชนทางด้านซ้ายของรถยนต์รับจ้างสามล้อที่โจทก์นั่งมา นายบรรเทิง ศรีเกษม สามีโจทก์ซึ่งนั่งมาในรถยนต์รับจ้างสามล้อกับโจทก์ก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุรถยนต์รับจ้างสามล้อแล่นในช่องกลาง ไม่ได้แล่นอยู่ในช่องเดิน รถยนต์โดยสารประจำทาง และขณะถูกชนรถยนต์รับจ้างสามล้อก็กำลังแล่นอยู่ในช่องทางเดินรถช่องกลางคือช่องที่สองหลังจากถูกชนแล้วรถได้แฉลบไปชนเกาะกลางถนน แล้วแฉลบไปชนขอบถนนทางด้านซ้ายอีกครั้งหนึ่ง นายบุญชอบ อุทรารัมย์ ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสามล้อพยานจำเลยที่ 2 เองก็เบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า ขณะที่นายบุญชอบขับขี่รถในช่องทางเดินรถช่องที่ 2มาตามถนนจรัลสนิทวงศ์ ก่อนถึงสะพานกระท้อนแถวมีรถยนต์โดยสารประจำทางคันหนึ่งจอดอยู่ในช่องเดินรถช่องที่หนึ่งชิดขอบทางโดยจอดห่างสะพานไม่ถึง 10 เมตร นายบุญชอบขับขี่รถข้ามสะพานกำลังจะลงสะพานก็ถูกชนท้าย ทำให้รถที่นายบุญชอบขับขี่แล่นเข้าไปในช่องที่ 3 ชนเกาะกลางถนน รถพลิกคว่ำและไถลมาอยู่ในช่องทางเดินรถช่องที่ 1 ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่าประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มีตัวโจทก์ นายบรรเทิงสามีโจทก์และนายบุญชอบพยานจำเลยที่ 2ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า รถยนต์โดยสารประจำทางเป็นฝ่ายชนรถยนต์รับจ้างสามล้อทางด้านท้ายขณะที่รถยนต์รับจ้างสามล้อกำลังแล่นอยู่ในช่องทางเดินรถช่องที่ 2 ไม่ได้อยู่ในช่องเดินรถยนต์โดยสารประจำทาง จึงน่าเชื่อว่าพยานดังกล่าวเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริงส่วนพยานจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างว่ารถยนต์รับจ้างสามล้อเลี้ยวตัดหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางคงมีนายดิเรก ฉิมฉลาด ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 โดยทำหน้าที่พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารเพียงปากเดียวเบิกความว่าเหตุที่รถชนกันเพราะรถยนต์รับจ้างสามล้อเลี้ยวตัดหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนขับขี่ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เพราะนายดลเทพ ลักษณ์อนันต์กูร พนักงานอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า รถยนต์รับจ้างสามล้อถูกชนบุบยุบที่หลังคาช่วงหลังซ้าย และบริเวณแผงไฟเลี้ยวด้านซ้าย ส่วนรถโดยสารประจำทางใช้บริเวณมุมไฟหน้าขวาชนและมีรอยเบรกของรถโดยสารประจำทางที่ชนยาวถึง 20 เมตร เมื่อชนแล้วรถยนต์รับจ้างสามล้อกระเด็นออกไปถึง 12 เมตร แสดงให้เห็นว่ารถยนต์โดยสารประจำทางแล่นมาอย่างเร็วและชนกันอย่างแรง หากการชนเกิดขึ้นในลักษณะที่รถยนต์รับจ้างสามล้อแล่นเข้ามาปาดหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางในระยะกระชั้นชิดจริงแล้วรถยนต์รับจ้างสามล้อก็ไม่น่าจะแฉลบไปไกลในลักษณะเช่นนั้นรถน่าจะพลิกคว่ำหรือพุ่งเข้าชนทางเท้าด้านซ้ายมากกว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางโดยประมาทฝ่ายเดียว
ปัญหาข้อ 5 ที่ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่นายปรีด์ วังศกาญจน์กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า รถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 2 ได้นำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางการเดินรถของจำเลยที่ 3 และปรากฏว่าพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถโดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ก็เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดชอบในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่
ส่วนประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3ฎีกาว่า ในส่วนความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาทนั้นสูงเกินไปศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ต้องป่วยเจ็บทุพพลภาพมีแผลติดตัวเป็นที่น่าเกลียดแก่ผู้พบเห็น นายแพทย์สุนทร ศรมยุรา ก็เบิกความยืนยันว่าโจทก์ใช้แขนอย่างปกติไม่ได้และเสียประสาทการดมกลิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาทจึงเป็นการเหมาะสมแล้วส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าขาดรายได้พิเศษจากการเฝ้าผู้ป่วยในตอนกลางคืนนั้นศาลกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สูงเกินไป เพราะโจทก์มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท เห็นว่าโจทก์มีอาชีพนางพยาบาล การรับจ้างเฝ้าผู้ป่วยเป็นเรื่องปกติของผู้มีอาชีพดังกล่าว ถ้าโจทก์ไม่เจ็บป่วยคงมีรายได้จากการเฝ้าผู้ป่วยอย่างแน่นอน โจทก์ขาดรายได้จากการเฝ้าผู้ป่วยถึง 3 เดือน ซึ่งโจทก์นำสืบว่าโจทก์จะได้เงินรวมทั้งสิ้น 18,000 บาท แต่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียง 6,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน