แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๑
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดยะลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดยะลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘ นายรุ่งชัย แซ่ตั้ง ที่ ๑ นายสุทธิชัย เอี่ยมประเสริฐกุล ที่ ๒โจทก์ ยื่นฟ้องกรมป่าไม้ ที่ ๑ จังหวัดยะลา ที่ ๒ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดยะลา เป็นคดีหมายเลขดำที่๒๒๕/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์ที่๑เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ คันหมายเลขทะเบียน ๗๐-๐๙๐๐ ยะลา โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน ๗๐-๐๖๕๗ยะลา เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๖เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยทั้งสามร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันดังกล่าวเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗พนักงานอัยการจังหวัดยะลาฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมแต่มิได้ขอให้ศาลริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคัน และมีหนังสือที่ อล/(ยล)๐๐๓๑๘๒ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗ แจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ในวันที่ ๒๙มกราคม ๒๕๔๗ โจทก์ทั้งสองมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตาซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนขอรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางคืน และในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งไปยังป่าไม้จังหวัดยะลาว่า พนักงานอัยการมิได้ขอริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคัน และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางดังกล่าวคืนขอให้ป่าไม้จังหวัดยะลาดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ผู้แทนของจำเลยที่ ๒ มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์๒๕๔๗ ถึงผู้แทนจำเลยที่ ๑ ว่าอำนาจในการคืนของกลางในระหว่างคดีเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือลงวันที่ ๖ตุลาคม ๒๕๔๗ ถึงเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ขอทราบผลการขอคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางและในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มีหนังสือถึงผู้แทนจำเลยที่ ๑ เพื่อพิจารณาพร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าควรมอบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางให้เจ้าของรับคืนไป ในวันที่ ๑๕ธันวาคม๒๕๔๗ ผู้แทนของจำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ รายงานความเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางและความเห็นของพนักงานสอบสวนที่ให้ความเห็นว่าควรคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อให้ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ทราบและพิจารณา ทนายความของโจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ถึงผู้แทนจำเลยที่๒ และผู้แทนจำเลยที่ ๓ ร้องทุกข์กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด และมีหนังสือลงวันที่ ๒๑มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงนายกรัฐมนตรี ขอความช่วยเหลือเร่งรัดการคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางแต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางคืน โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน ๙๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จพร้อมค่าขาดประโยชน์เป็นเงินวันละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๘
จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว การยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางดังกล่าวเนื่องมาจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าไม้เป็นการยึดรถยนต์ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้การยึดดังกล่าวเป็นการยึดไว้เพื่อตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญา และสามารถคืนรถยนต์ของกลางได้หรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายป่าไม้ จำเลยทั้งสามได้ให้โอกาสแก่โจทก์ทั้งสองในการแสดงพยานหลักฐานความเป็นเจ้าของแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองกลับมิได้แสดงพยานหลักฐานโดยครบถ้วน ทำให้การพิจารณาคืนของกลางต้องล่าช้าอันเป็นความบกพร่องของโจทก์ทั้งสองเอง จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางให้แก่โจทก์ทั้งสองไปแล้ว เมื่อพบว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องริบตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดยะลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอันสืบเนื่องจากการจับกุมและยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสามแต่เนื่องจากการจับกุมและยึดของกลางดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดอันนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาและเป็นการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๖๔และมาตรา ๖๔ ทวิ ซึ่งมาตรา ๖๔ ทวิ กำหนดให้อำนาจในการยึดและคืนบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้สัตว์พาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้ใช้หรือมีเหตุสมควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิดไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามิใช่การกระทำละเมิดเนื่องจากการใช้อำนาจทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา ๙แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสามไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางที่ถูกยึดและเก็บรักษาไว้ตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้คืน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมค่าขาดประโยชน์เป็นเงินวันละ๑,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วยเมื่อการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคืนของกลางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔ ทวิ และมาตรา ๖๔ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แม้รถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวจะเป็นของกลางที่ถูกยึดไว้ในคดีอาญาข้อหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ และการยึดของกลางเป็นขั้นตอนการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่มีผลให้คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญาเพราะโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดจากการใช้อำนาจยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางโดยมิชอบ แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ไม่คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้คืน โดยเรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดรายได้จากการไม่ได้ใช้รถตั้งแต่วันที่พนักงานสอบสวนสั่งให้คืนรถ มิใช่ตั้งแต่วันยึดรถ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้เก็บรักษาของกลางไว้แทนพนักงานสอบสวนตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๒ นอกจากนั้น ตามมาตรา ๖๔ทวิ และมาตรา ๖๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการคืนของกลางของเจ้าหน้าที่และจำเลยที่ ๓ ไว้โดยเฉพาะต่างหากจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ไม่คืนของกลางตามที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งให้คืน จึงไม่ใช่ขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง แต่เป็นการกระทำตามขั้นตอนวิธีการและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และจำเลยที่ ๓ ตามที่มาตรา ๖๔ ทวิ และมาตรา๖๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองกำหนดไว้คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญาที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนและต่างเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันที่ถูกเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยทั้งสามคือกรมป่าไม้ที่ ๑ จังหวัดยะลา ที่ ๒ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๓ ร่วมกันยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อดำเนินคดีกล่าวหาว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ พนักงานอัยการจังหวัดยะลาฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมแต่มิได้ขอให้ศาลริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางและมีหนังสือที่ อล/(ยล) ๐๐๓๑๘๒ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗ แจ้งให้พนักงานสอบสวนจัดการกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ในวันที่ ๒๙ มกราคม๒๕๔๗ โจทก์ทั้งสองมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา หัวหน้าพนักงานสอบสวน ขอรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางคืน และในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งไปยังป่าไม้จังหวัดยะลาว่าพนักงานอัยการมิได้ขอริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางทั้งสองคัน และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวคืนขอให้ป่าไม้จังหวัดยะลาดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ผู้แทนของจำเลยที่ ๒ มีหนังสือลงวันที่ ๑๒กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ถึงผู้แทนจำเลยที่ ๑ ว่าอำนาจในการคืนของกลางในระหว่างคดีเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโจทก์ที่ ๑ มีหนังสือลงวันที่๖ตุลาคม ๒๕๔๗ ถึงเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ขอทราบผลการขอคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง ต่อมาโจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงผู้แทนจำเลยที่ ๒ และผู้แทนจำเลยที่ ๓ ร้องทุกข์กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด และมีหนังสือลงวันที่๒๑ มีนาคม๒๕๔๘ ถึงนายกรัฐมนตรีขอความช่วยเหลือเร่งรัดการคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางคืน ขอให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๐ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว การยึดรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จำเลยทั้งสามให้โอกาสแก่โจทก์ทั้งสองในการแสดงพยานหลักฐานความเป็นเจ้าของแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองไม่แสดงพยานหลักฐานให้ครบถ้วน การพิจารณาคืนของกลางจึงล่าช้าและเป็นความบกพร่องของโจทก์ทั้งสองเอง เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีเป็นการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่ยึดไว้ตามที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ กำหนด กระทำละเมิดไม่ยอมคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางตามที่โจทก์ทั้งสองร้องขอ ทั้งที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องโดยมิได้ขอให้ศาลริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางและพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งให้ป่าไม้จังหวัดยะลาดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๘๕ แล้วตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ จนกระทั่งถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๘) ก็ยังไม่ได้รับคืนกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายรุ่งชัย แซ่ตั้ง ที่ ๑ นายสุทธิชัย เอี่ยมประเสริฐกุล ที่ ๒ โจทก์ กรมป่าไม้ ที่ ๑ จังหวัดยะลา ที่ ๒ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๖