คำวินิจฉัยที่ 25/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๕๑

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นายคึกฤทธิ์ อาโด่ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายจรัญภักดีธนากุล ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ ๑ พลตำรวจโท กฤษณะผลอนันต์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๒ นายชาติชายสุทธิกลม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค ๕ ที่ ๓ พันตำรวจเอก กฤษณพลยี่สาคร ในฐานะผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิง ที่ ๔ นายอนุเทพ ธาระณะ ในฐานะเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนปฏิบัติราชการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค ๕ ที่ ๕ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔/๒๕๕๐ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ผจ ๖๖๗๗ เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญาที่นายสุชาติ มาเยอะ ผู้ต้องหา ซึ่งถึงแก่ความตาย ใช้ในการขนยาเสพติดให้โทษ ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่ารถยนต์พิพาทดังกล่าวพนักงานอัยการไม่ขอริบและให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๒๔๓๗/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๔กันยายน ๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ก่อน ต่อมาวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๙ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒เพื่อขอรับรถยนต์พิพาทคืน แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีนำพยานบุคคล รวมทั้งใบคู่มือ จดทะเบียนและหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจที่นายสุชาติยืมรถยนต์พิพาทไปใช้ในการกระทำผิด และผู้ฟ้องคดีซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ไม่นำคำให้การพยานของผู้ฟ้องคดีเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ๕ พิจารณาวินิจฉัย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กลับยึดรถยนต์พิพาทไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๘ โดยไม่มีบัญชีของกลางและคำสั่งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และนำรถยนต์พิพาทไปใช้งานโดยไม่ได้เก็บไว้ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงนอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยให้คืนรถยนต์พิพาทไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม กลับใช้อำนาจโดยพลการเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่ ๑๘๐๖/๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทตั้งแต่วันที่ ๒๙ธันวาคม ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ไม่ได้รับคำตอบขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้คืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกร่วมกันชดใช้ราคาแทน เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์เป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุชาติ ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนเท่านั้นและมีข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่ารถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ของนายสุชาติ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งที่ ๑๑๓๕/๒๕๔๙ ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายสุชาติ โดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของนายสุชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ๕ ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีที่๓เป็นอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการ ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าไม่ขอริบรถยนต์พิพาทและให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔รายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่๖ ทราบ โดยมีหลักฐานคำให้การของผู้ฟ้องคดีว่ารถยนต์พิพาทเป็นของ นายสุชาติรถยนต์พิพาทนอกจากจะเป็นทรัพย์ของกลางในคดีแล้วยังถือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งที่ ๒๔๓๗/๒๕๔๙ ลงวันที่๔กันยายน๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕รวบรวมพยานหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินของนายสุชาติ ประกอบคำให้การของผู้ฟ้องคดีที่ให้การไว้เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ แล้ว จึงเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาเห็นว่า รถยนต์พิพาทเป็นของนายสุชาติจึงมีคำสั่งที่๑๘๐๖/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาท การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามในคำสั่งดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และมีการตรวจสอบกลั่นกรองข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยตลอดแล้ว ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงอันเป็นการอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นข้อเท็จจริงเดียวกับที่เคยชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงมีมติตามมติเดิมให้ยึดรถยนต์พิพาท และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้แจ้งสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดีในการสอบปากคำผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม๒๕๔๙ ถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ตอบหรือชี้แจงตามหนังสืออุทธรณ์ขอคืนทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่จำเป็นต้องตอบหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งยึดหรืออายัดไว้ จึงไปรับรถยนต์พิพาทจากสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงเมื่อวันที่ ๕กันยายน ๒๕๔๙ หลังจากที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่มีอำนาจพิจารณาคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายสุชาติซึ่งรวมถึงรถยนต์พิพาทและสรุปสำนวนทำบันทึกพิจารณาตรวจสอบทรัพย์สินเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ๕ ในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙โดยได้เสนอบันทึกถ้อยคำของผู้ฟ้องคดี บันทึกถ้อยคำพยานของผู้ฟ้องคดี พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ๕ ได้เสนอเรื่องราวต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยและมีคำสั่งยึดรถยนต์พิพาท การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัด จะต้องดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติขั้นตอนและวิธีดำเนินการไว้ต่อไป คำสั่งยึดรถยนต์พิพาทของนายสุชาติไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๑๑ และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓ เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๒๔๓๗/๒๕๔๙ ลงวันที่๔ กันยายน ๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทซึ่งมีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไว้ชั่วคราวเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๒ วรรคสอง และมีผลเป็นการระงับต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่อ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาท คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง และ ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายโดยตรงจากคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๖กันยายน ๒๕๔๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอรับรถยนต์พิพาทคืนแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ แล้วเมื่อผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒และให้คืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกร่วมกันชดใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ย และให้ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์นั้น จึงเป็นข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๑) และ(๓)เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่ง เมื่อวันที่ ๒๘สิงหาคม๒๕๔๙ ไม่ริบรถยนต์พิพาท แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกยังมิได้ดำเนินการให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ริบรถยนต์พิพาท กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่ามูลคดีนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาในทางอาญา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ ๑๘๐๖/๒๕๔๙ให้ยึดรถยนต์พิพาทตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามมาตรา ๑๖(๓) (๔) และมาตรา ๒๒ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกมิได้ดำเนินการคืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดีตั้งแต่พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่ริบ จึงมีมูลพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ตามนัยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖๑/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การยึดทรัพย์ที่มีกรณีอันควรสงสัยว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การตรวจสอบทรัพย์สิน และการที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบแล้วเป็นขั้นตอนกระบวนการที่นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าว อันเป็นการบังคับโทษในทางอาญาต่อทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดสถานหนึ่ง และศาลยุติธรรมย่อมเป็นผู้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในขั้นตอนเหล่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๑๑๓๕/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายสุชาติ ซึ่งรวมทั้งรถยนต์พิพาท และต่อมาภายหลังจากพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือลงวันที่๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าพนักงานอัยการไม่ขอริบรถยนต์พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีคำสั่งที่ ๒๔๓๗/๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมิได้คืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินของนายสุชาติรวมทั้งรถยนต์พิพาทเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งที่๑๘๐๖/๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามในคำสั่งดังกล่าวในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน จึงเป็น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในกระบวนยุติธรรมทางอาญา ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติว่า “ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” หาใช่ว่าต้องถึงขั้นตอนที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ริบรถยนต์พิพาทแล้ว จึงจะถือว่ามูลคดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางอาญาไม่ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยเหตุใน คำฟ้องที่อ้างว่ารถยนต์พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของนายสุชาติและให้คืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี ก็เป็นประเด็นพิพาทที่ศาลยุติธรรมเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัยตามกฎหมาย และเป็นประเด็นข้อสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนในคดีนี้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจึงจะพิจารณาต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในขั้นตอนใดบ้างหรือไม่ และอย่างไรก็ดีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกปฏิบัติเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้หากมีส่วนใดเป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ฟ้องคดีจะเรียกร้องค่าเสียหาย ก็เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๑/๒๕๔๘, ๓๒/๒๕๔๘,๑/๒๕๔๙ และ ๑๗/๒๕๔๙

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า รถยนต์พิพาทมีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา โดยเป็นรถยนต์ที่นายสุชาติ ผู้ต้องหา ซึ่งถึงแก่ความตายได้ใช้ในการขนยาเสพติดให้โทษ ในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการไม่ขอริบรถยนต์พิพาทและให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๕ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๙ ให้ยึดรถยนต์พิพาทไว้ชั่วคราว ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๘ และให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำรถยนต์พิพาทไปใช้โดยไม่มีบัญชีของกลางและยังไม่มีคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ยึดรถยนต์พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รู้เห็นเป็นใจให้มีการนำรถยนต์พิพาทไปใช้ดังกล่าวด้วย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ไม่นำคำให้การพยานของผู้ฟ้องคดีเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ๕ทำให้ไม่ได้พิจารณาคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี และเมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอรับรถยนต์พิพาทคืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่๒ ไม่ได้ชี้แจงและไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวนผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม กลับใช้อำนาจโดยพลการเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินให้ยึดรถยนต์พิพาทตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้คืนรถยนต์พิพาทแก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกร่วมกันชดใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ย และให้ร่วมกันชดใช้ ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การสรุปได้ว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น เหตุคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีอาญาที่นายสุชาติ ผู้ต้องหา ซึ่งถึงแก่ความตาย ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มีคำสั่งให้ยึดรถยนต์พิพาท โดยวินิจฉัยว่ารถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์สินของนายสุชาติและเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายสุชาติ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ตราขึ้นเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ได้แก่ มาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน และการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การยื่นคำร้องของพนักงานอัยการต่อศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗ เพื่อให้ศาลไต่สวนและสั่งริบทรัพย์สินนั้นตามมาตรา ๒๙ โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือถ้ามีเหตุอันควรจะยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่ในกรณีไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย ก็ให้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการดังกล่าวนั้น เมื่อการยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญาและการยึดรถยนต์พิพาทของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ต่อเนื่องมาเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. ๒๕๓๔ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีปกครองที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายคึกฤทธิ์ อาโด่ ผู้ฟ้องคดี นายจรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ ๑ พลตำรวจโท กฤษณะ ผลอนันต์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๒ นายชาติชาย สุทธิกลม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค ๕ ที่ ๓ พันตำรวจเอกกฤษณพล ยี่สาคร ในฐานะผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิง ที่ ๔ นายอนุเทพ ธาระณะ ในฐานะเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนปฏิบัติราชการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค๕ ที่ ๕ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน

Share