แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๑
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นางสาวอุไร เกตุหิรัญ ที่ ๑ นายบุญเลิศ เกตุหิรัญ ที่ ๒ นายธงชัย เกตุหิรัญ ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ ๒นายนราธิป ภัทรวิมล ที่ ๓ นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่๑๙๖๓/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่๑๘๖๙๘๕ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๙โจทก์ทั้งสามยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ คัดค้านการรังวัด อ้างว่าโจทก์ทั้งสามนำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำทางเท้าสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในปี ๒๕๔๓ -๒๕๔๔ จำเลยที่ ๔ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน เขตวังทองหลาง ได้สั่งการให้ก่อสร้างทางเท้าสาธารณะดังกล่าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามเป็นแนวยาวตลอดที่ดินจำนวน๔๓ ตารางวาการคัดค้านการรังวัดที่ดินและการก่อสร้างทางเท้าสาธารณะตามที่กล่าวมา จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ขอให้จำเลยทั้งสี่ถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่๑๘๖๙๘๕ ของโจทก์ทั้งสามเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้ารวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นใดของจำเลยทั้งสี่ริมถนนศรีวราในส่วนที่รุกล้ำออกไปจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ พร้อมทั้งส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ๒๑,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะถอนคำคัดค้านรังวัดที่ดินและรื้อถอนทางเท้ารวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นใดในส่วนที่รุกล้ำพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสี่มิได้ก่อสร้างทางเท้าสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่ทางเท้าสาธารณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของถนนศรีวราซึ่งเป็นถนนสาธารณะ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๐ โจทก์ทั้งสามแบ่งส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๓ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ยกให้เป็นทางสาธารณะ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๓ ประชาชนได้ใช้ทางสาธารณะดังกล่าวสัญจรไปมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว การที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทางสาธารณะดังกล่าวคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่นำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำทางสาธารณะ จึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใดคดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำละเมิดด้วยการก่อสร้างทางเท้าสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามและยื่นคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ และมาตรา๒๗๖ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งสองฉบับข้างต้นรวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ทั้งนี้เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองดังที่กล่าวมาดังนั้น หากคดีใดมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ศาลปกครองก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตามมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้ใช้อำนาจและหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตลอดจนมีหน้าที่ตามมาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ในการจัดการรักษาทางบกทางน้ำและดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ด้วยเหตุนี้ กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันในการที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ จึงมิใช่คดีพิพาททั่วไปที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และแม้ว่าจะมีประเด็นในคดีที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยก่อนเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินพิพาทว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้มีประเด็นหลักในคดีที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสี่อันเป็นคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ศาลปกครองก็ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่เป็นประเด็นเกี่ยวพันกันที่ต้องวินิจฉัยก่อนเพื่อให้สามารถวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ตามนัยข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ทั้งนี้ หาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลปกครองนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปอันว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคลเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาวินิจฉัยคดีแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณาคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมโดยมีมูลเหตุสืบเนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสามต้องการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้ว ฝ่ายจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นคัดค้านกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสามนำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินสาธารณะคือถนนศรีวราซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย และไม่รับรองแนวเขตที่ฝ่ายโจทก์นำชี้ในการรังวัด การที่ฝ่ายโจทก์นำชี้เข้าไปในแนวทางเท้าเนื่องมาจากเมื่อประมาณปี ๒๕๔๓-๒๕๔๔ ฝ่ายจำเลยสร้างทางเท้าบริเวณถนนศรีวรา ในส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยฝ่ายจำเลยมิได้รังวัดสอบเขตที่ดิน ที่แน่นอนก่อนลงมือก่อสร้างทางเท้า ทำให้ทางเท้านั้นก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามเนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๔๓ ตารางวา (๑๗๒ ตารางเมตร)โดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้ให้ความยินยอม ขอให้ศาลบังคับให้ ฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ พร้อมส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ ๒๑,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะส่งมอบที่ดินส่วนที่รุกล้ำคืนและถอนคำคัดค้านการรังวัด ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสี่มิได้ก่อสร้างทางเท้าสาธารณะรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่ทางเท้าสาธารณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของถนนศรีวราซึ่งเป็นถนนสาธารณะที่โจทก์ทั้งสามแบ่งส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่๙๕๓ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ยกให้เป็นทางสาธารณะโดยที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๓ประชาชนใช้ทางสาธารณะดังกล่าวในการสัญจรเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยที่ ๓ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม คดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องเมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ศาลบังคับให้ฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ ของโจทก์ทั้งสาม เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๕ เนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๔๓ ตารางวา พร้อมส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ ๒๑,๕๐๐บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะส่งมอบที่ดินส่วนที่รุกล้ำคืนและถอนคำคัดค้านการรังวัด คดีนี้มีโจทก์บางรายและจำเลยทั้งสี่รายเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล ที่ ๑๔/๒๕๕๑ และเหตุแห่งการฟ้องคดีรวมทั้งคำขอของโจทก์เหมือนกันกับคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว อีกทั้งที่ดินพิพาททั้งสองคดีเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเห็นว่าคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๔/๒๕๕๑ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงสมควรให้คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวอุไร เกตุหิรัญ ที่ ๑ นายบุญเลิศ เกตุหิรัญ ที่ ๒นายธงชัย เกตุหิรัญ ที่ ๓ โจทก์ กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ ๒ นายนราธิป ภัทรวิมล ที่ ๓ นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๕