แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๑
วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดเชียงรายและศาลปกครองเชียงใหม่ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐ นายจิตติ พงศ์กุศลจิตต์ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมทางหลวง ที่ ๑ บริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่๔๒๖/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมสามแปลงได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่๔๒๖๘๗ เลขที่ดิน ๒๑๓๘ โฉนดที่ดินเลขที่๔๒๖๘๘ เลขที่ดิน ๒๑๓๗ และโฉนดที่ดินเลขที่๙๕๑๙ เลขที่ดิน ๕๕๔ ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามกรณีจำเลยที่ ๑ เจ้าของโครงการปรับปรุงก่อสร้างถนนสายพระประแดง-บางปลากด ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรับปรุงและก่อสร้างถนนสายดังกล่าว แต่ระหว่างดำเนินการตามสัญญาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ขุดดินจำนวนมากกองไว้บริเวณด้านหน้าแนวรั้วกำแพงของโจทก์ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ดินโจทก์ ทำให้ดินและเศษวัสดุปิดกั้นกีดขวางทางน้ำและเกิดน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมากในขณะที่ฝนตก อีกทั้งน้ำยังกัดเซาะโครงสร้างรากฐานตลอดแนวกำแพงจนกระทบกระเทือนต่อความแข็งแรงของโครงสร้างฐานรากกำแพง เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำหนักของน้ำและดินจึงดันกำแพงจนแตกร้าวและล้มเอียงเข้ามาในที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้น่าจะเกิดอันตรายเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว โจทก์จ้างช่างผู้เชี่ยวชาญประเมินค่าเสียหายในการซ่อมแซมกำแพงคิดเป็นเงินจำนวน ๔๕๒,๐๐๔บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายดังกล่าว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๔๗๗,๒๖๖.๖๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ในฐานะที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง สัญญาว่าจ้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาจ้างทำของและความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการสั่งการหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่๑ ไม่ได้เป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในระหว่างการทำการงานที่ว่าจ้าง อีกทั้งในวันเกิดเหตุไม่มีการปฏิบัติงานก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ด้านหน้ารั้วกำแพงของโจทก์และไม่มีกองดินที่กีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ งานก่อสร้างบริเวณนั้นมีเพียงการวางท่อประปาขนาด ๑๒ นิ้ว วางลอยอยู่บนพื้นดิน ไม่มีการขุดร่องหรือขุดดินใดๆ ในบริเวณที่เกิดเหตุ และได้ดำเนินการวางท่อดังกล่าวแล้วเสร็จก่อนวันที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลานานแล้วนอกจากนี้ รั้วกำแพงของโจทก์ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โจทก์ต่อเติมกำแพงจากเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงรากฐานเดิมให้รองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และก่อนที่จำเลยที่ ๒และที่ ๓ จะเข้าดำเนินการ ระดับความสูงของพื้นดินภายนอกรั้วกำแพงของโจทก์สูงกว่าระดับความสูงของพื้นดินภายในรั้วกำแพงของโจทก์ประมาณ ๑ เมตร ซึ่งทำให้เกิดแรงดันของดินจากด้านที่มีระดับสูงกว่าไปสู่ด้านที่มีระดับต่ำกว่า ซึ่งกำแพงรั้วทำด้วยอิฐบล็อกเดิมไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับแรงดันดิน และรั้วกำแพงของโจทก์ทรุดและชำรุดอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จะต้องทำกำแพงกันดินเพื่อต้านแรงกระทำจากน้ำหนักดินดังกล่าว และในวันเกิดเหตุมีฝนตกหนักและลมแรงเป็นแรงกระทำเพิ่ม แต่มีแรงต้านการกระทำจากภายในรั้วกำแพงเท่าเดิม ประกอบกับโครงสร้างของกำแพงรั้วของโจทก์ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอจึงเกิดความเสียหายขึ้น อนึ่งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินกว่าความเป็นจริง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจ้างเหมาอันเป็นสัญญาจ้างทำของเสร็จเด็ดขาดกับจำเลยที่๓ดังนั้น จำเลยที่ ๓จึงต้องรับผิดชอบไปทั้งสิทธิหน้าที่ทั้งหมดต่อบุคคลภายนอกอันเกี่ยวกับงานก่อสร้างปรับปรุงและสร้างถนนสายพระประแดง-บางปลากด จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการ จึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ ๓ ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของจำเลยที่ ๓ หรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิด นอกจากนี้ ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่โจทก์อ้างไม่เกิน๕๐,๐๐๐บาท และเป็นความผิด ความประมาทของโจทก์เอง ทั้งเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากภัยธรรมชาติอันมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสายพระประแดง-บางปลากดและมีการขุดดินตามหลักวิชาการ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมทางหลวงและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน จำเลยที่ ๓ ไม่ได้นำดินมากองติดกำแพงพิพาทหรือกีดขวางการจราจรหรือทางน้ำไหล การที่กำแพงรั้วของโจทก์แตกร้าวและทรุดตัวเป็นความผิดและความประมาทของโจทก์เองที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานทั้งมีอายุการใช้งานมานาน การทรุดตัวเกิดจากภัยธรรมชาติประกอบกับความประมาทของโจทก์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่โจทก์อ้างไม่เกิน๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยคำนวณตามสภาพความเป็นจริงและการก่อสร้างในลักษณะของกำแพงเดิมของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากมูลเหตุที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานละเมิดเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ปรับปรุงก่อสร้างถนนสายพระประแดง-บางปลากด อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ (เทียบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่๕๐๔/๒๕๔๗ (ป))
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คดีนี้มูลเหตุพิพาทเกิดจากการกระทำละเมิดซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะนิติบุคคลตามกฎหมายซึ่งมีฐานะเป็นเอกชนได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ มิใช่เป็นกรณีละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองและมิใช่เป็นกรณีโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง แต่เป็นกรณีโต้แย้งในหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องโอนคดีไปยังศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามสรุปได้ว่า โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรับปรุงก่อสร้างถนน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขุดดินจากการปรับปรุงถนนมากองไว้ตามแนวรั้วกำแพงของโจทก์และปิดกั้นขวางทางน้ำ ไม่สามารถไหลลงคลองได้ตามปกติ น้ำหนักของน้ำและดินดันกำแพงของโจทก์แตกร้าวได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต่อสู้หลายประเด็น แต่มีประเด็นสำคัญว่า วันเกิดเหตุไม่มีการปฏิบัติงานก่อสร้างในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีกองดินกีดขวางการไหลของน้ำ รั้วกำแพงของโจทก์ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โจทก์ต่อเติมกำแพงจากเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงรากฐานเดิมให้รองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและรั้วกำแพงของโจทก์ชำรุดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีเหตุฝนตกหนักและลมแรงจึงเกิดความเสียหาย เห็นว่า ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าบริษัทผู้รับเหมาโดยการว่าจ้างของกรมทางหลวง ขุดดินจากการปรับปรุงถนนมากองไว้บริเวณแนวรั้วกำแพงโจทก์ เมื่อฝนตกทำให้น้ำหนักของน้ำและดินดันกำแพงรั้วโจทก์เอียงได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนทั่วไปจะพึงใช้ความระมัดระวังเป็นเหตุให้รั้วของโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าบริษัทผู้รับเหมากระทำการก่อสร้างโดยประมาทอันเป็นการกระทำทางกายภาพ ซึ่งลักษณะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ แต่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้มีอำนาจดังต่อไปนี้ … (๒) วิจัยและพัฒนางานก่อสร้างบูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน … ตามข้อ ๑ ของกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมพ.ศ. ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จ้างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายพระประแดง-บางปลากด โดยได้ขุดดินมากองไว้บริเวณด้านหน้ารั้วกำแพงของโจทก์ เป็นเหตุให้น้ำไหลลงสู่คลองตามปกติไม่ได้ ทำให้น้ำกัดเซาะโครงสร้างรากฐานตลอดแนวกำแพง ทำให้กำแพงแตกร้าว พัง ทรุดและเอียง จนน่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ แม้การก่อสร้างและปรับปรุงถนนดังกล่าวจะเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ตาม แต่อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของจำเลยที่๑ จึงเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการในทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง การกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเอกชน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมสามแปลงได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามกรณีจำเลยที่ ๑ เจ้าของโครงการปรับปรุงก่อสร้างถนนสายพระประแดง-บางปลากด ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรับปรุงและก่อสร้างถนนสายดังกล่าว แต่ระหว่างดำเนินการตามสัญญาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขุดดินจำนวนมากกองไว้บริเวณด้านหน้าแนวรั้วกำแพงของโจทก์ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ดินโจทก์ ทำให้ดินและเศษวัสดุปิดกั้นกีดขวางทางน้ำและเกิดน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมากในขณะที่ฝนตก อีกทั้งน้ำยังกัดเซาะโครงสร้างรากฐานตลอดแนวกำแพงจนกระทบกระเทือนต่อความแข็งแรงของโครงสร้างฐานรากกำแพง เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำหนักของน้ำและดินจึงดันกำแพง ทำให้เกิดการแตกร้าวและล้มเอียงเข้ามาในที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้น่าจะเกิดอันตรายเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องร่วมรับผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง สัญญาว่าจ้างปรับปรุงก่อสร้างถนนสายดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่๑ และที่ ๒ ในฐานะผู้ว่าจ้างจึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง และในวันเกิดเหตุไม่มีการปฏิบัติงานก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ด้านหน้ารั้วกำแพงของโจทก์และไม่มีกองดินที่กีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ งานก่อสร้างบริเวณนั้นมีเพียงการวางท่อประปาลอยอยู่บนพื้นดิน ไม่มีการขุดร่องหรือขุดดินใดๆ ในบริเวณที่เกิดเหตุ และวางท่อดังกล่าวแล้วเสร็จก่อนวันที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลานานแล้ว อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรั้วกำแพงของโจทก์ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินกว่าความเป็นจริง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนสายดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมทางหลวงและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน จำเลยที่ ๓ ไม่ได้นำดินมากองติดกำแพงพิพาทหรือกีดขวางการจราจรหรือทางน้ำไหล การที่กำแพงรั้วของโจทก์แตกร้าวและทรุดตัวเป็นความผิดและความประมาทของโจทก์เองที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งมีอายุการใช้งานมานาน การทรุดตัวเกิดจากภัยธรรมชาติประกอบกับความประมาทของโจทก์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๓นำดินจำนวนมากมากองไว้บริเวณด้านหน้าแนวรั้วกำแพงของโจทก์ ทำให้รั้วกำแพงแตกร้าวและล้มเอียง เป็นเหตุให้น่าจะเกิดอันตรายเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของโจทก์ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างปรับปรุงก่อสร้างถนนสายพระประแดง-บางปลากด โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้รับจ้างและผู้รับจ้างช่วงตามลำดับเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายจิตติ พงศ์กุศลจิตต์ โจทก์ กรมทางหลวง ที่๑ บริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ บริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย)จำกัด (มหาชน) ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๗