แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๗/๒๕๔๘
วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกาญจนบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นางซิ่วเอ็น อึ้งพานิชย์ ที่ ๑ นายเสริมศักดิ์ วิทยาประสงค์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๑ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๓ หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๔ นายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๕ องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ที่ ๖ ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๖๐/๒๕๔๕ และ ๙๙๗/๒๕๔๖ โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รวมคดีหลังเข้ากับคดีแรกเนื่องจากคดีมีความเกี่ยวเนื่องกันและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรายเดียวกัน ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินและมีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๒ (๑) ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๔๐ ตารางวา โดยนายกิมสวง อึ้งพานิชย์ สามีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เข้าจับจองก่นสร้างที่ดินซึ่งเป็นป่ารกร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก่อนพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ และพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับ และแจ้งการครอบครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อสามีถึงแก่กรรม ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมา ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มีหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๑ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๒ (๑) ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๓ งาน โดยนายหยุง เซื่อมหว็อง บิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เข้าจับจองก่นสร้างที่ดินซึ่งเป็นป่ารกร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก่อนพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๘ และพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับ และแจ้งการครอบครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเช่นกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลท่าตระคร้อ อำเภอท่าม่วง และตำบลแสนตอ ตำบลหวายเหนียว ตำบลพงตึก ตำบลท่าเสา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๙ ใช้บังคับ ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มีความประสงค์จะขอออกหนังสือสำคัญที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และขับไล่ให้ออกจากที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่า ที่สาธารณประโยชน์มีเนื้อที่ ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา และมีราษฎรบุกรุกเข้าทำไร่อ้อยและปลูกบ้านอยู่อาศัยเต็มทั้งแปลง รายงานดังกล่าวผิดพลาดคลาดเคลื่อนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินอำเภอท่ามะกาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ สร้างรูปแผนที่โดยไม่ทำการรังวัด ตรวจสอบ และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบก่อนเพื่อให้โอกาสคัดค้าน การไม่สอบสวนและรังวัดทำแผนที่ทำให้จำนวนเนื้อที่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ อ้างว่าได้ขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์เพิ่มเป็น ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ได้รวมที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเข้าไปเป็นที่สาธารณประโยชน์ด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จึงใช้ดุลพินิจผิดพลาดมีมติให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์บ้านดอนเขว้า และได้มีประกาศคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๑/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ให้ที่ดินตามรูปแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตของที่ดินคงเป็นที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๔ ต่อมาในปี ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ให้ผู้รับจ้างใช้รถแทรกเตอร์บุกรุกเข้าไปไถที่ดินทำลายไร่อ้อยของผู้ฟ้องคดีทั้งสองพร้อมกับปรับปรุงสภาพเป็นสนามกีฬาโดยไม่มีอำนาจหน้าที่และปักป้ายประกาศว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองฝ่าฝืน บุกรุก ปลูกพืชไร่ เป็นการส่วนตัว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๔ ขอรับการจัดรูปที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินบ้านดอนเขว้า แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แจ้งว่าไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการให้ได้เนื่องจากได้มีประกาศคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๑/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ให้ที่ดินดังกล่าวคงเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงได้อุทธรณ์คำสั่งและขอความเป็นธรรมต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๕ แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่มิได้พิจารณาลงมติแก้ไขปัญหาให้ยกเลิกเพิกถอนประกาศที่ ๑/๒๕๔๓ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่รังวัดกันเขตที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและรังวัดทำแผนที่ให้ถูกต้องอย่างเปิดเผย เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับทราบหรือคัดค้าน เป็นเหตุให้แนวเขตตามแผนที่ที่ดินสาธารณประโยชน์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ พร้อมด้วยกลุ่มราษฎรที่ชุมนุมเรียกร้องที่ดินสาธารณประโยชน์ฉวยโอกาสใช้ประกาศฉบับนี้อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์แย่งการครอบครองที่ดินทำลายพืชไร่ สร้างสนามกีฬาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แจ้งระงับไม่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเข้าครอบครองทำกินโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่เคารพคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาญจนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ ๒๒๐๕/๒๕๒๗ แต่อย่างใดทั้งสิ้น ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ คิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาสั่งเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๑/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ หรือสั่งแก้ไขแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศโดยรังวัดกันเขตที่ดินพิพาทตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๓ และเลขที่ ๕๑ ออกจากแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศดังกล่าวและดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๓ และครั้งที่ ๓/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับร่างประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแผนที่แนบท้ายประกาศ ให้คงสภาพเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเนื้อที่ประมาณ ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ขอให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๓ ที่เห็นชอบให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ “บ้านเขว้า” ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา คงสภาพเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ หยุดหรือระงับการก่อให้เกิดความเสียหายในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีและรื้อถอนสนามกีฬาและแผ่นป้ายประกาศที่สาธารณประโยชน์ออกไปพร้อมทั้งปรับปรุงสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทเลี้ยงสัตว์ ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ ๔๗๓/๒๔๘๖ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๘๖ เนื้อที่ประมาณ ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๒๕.๔ ตารางวา และศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ๒๒๐๕/๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๗ ความอาญาระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์ กับนายเสริมศักดิ์ วิทยาประสงค์ (ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ) จำเลยที่ ๑ นายกู้ เริ่มกุลชัย จำเลยที่ ๒ นางซิ่วเอ็น อึ้งพานิชย์ (ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ) จำเลยที่ ๓ นายปัญญา ชูชาติ จำเลยที่ ๔ เรื่องบุกรุก ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่จำเลยทั้งสี่ขาดเจตนาบุกรุก พิพากษายกฟ้อง เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่าม่วง และตำบลแสนตอ ตำบลหวายเหนียว ตำบลผงตึก ตำบลท่าเสา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๙ มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ทำให้ที่ดินตกเป็นทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นำมาจัดรูปที่ดินแต่อย่างใด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขอให้คงสภาพที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน พร้อมรูปแผนที่โดยสังเขป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติให้คงสภาพที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันเนื้อที่ ๑๐๓ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ โดยออกประกาศที่ ๑/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๔ มีผลให้ที่ดินพิพาทอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยดังเดิม และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไม่อาจดำเนินการใด ๆ กับที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงพิพาทได้อีก จึงไม่อาจดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน นั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาเบื้องต้นว่า สิทธิในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นของรัฐเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นมาตรการของรัฐเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นโดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกันเพื่อวางผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง เมื่อได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ใดให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว มาตรา ๓๐ (๓) ได้บัญญัติให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจกำหนดแปลงที่ดินที่จะจัดให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมและผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดิน หากเจ้าของที่ดินรายใดไม่ยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจัดซื้อที่ดินนั้นเพื่อนำมาดำเนินการจัดรูปที่ดินได้และถ้าเจ้าของที่ดินดังกล่าวไม่ยอมขายหรือเสนอขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจดำเนินการเวนคืนที่ดินนั้นเพื่อดำเนินการจัดรูปที่ดิน ดังนั้น การจัดรูปที่ดินจึงเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศ มติต่าง ๆ และสั่งระงับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด ตลอดจนให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงมีประเด็นหลักที่จะต้องวินิจฉัยว่าประกาศ มติและการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด จะโต้แย้งกันว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามข้ออ้างหรือไม่ แล้วจึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาเรื่องสิทธิของบุคคล อันเกี่ยวกับที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สินประกอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้บัญญัติให้ “การจัดรูปที่ดิน” หมายความว่า การดำเนินงานพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงที่ดินทุกแปลงเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต โดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินเสียใหม่ การจัดระบบชลประทานและการระบายน้ำ การจัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา การปรับระดับพื้นที่ดิน การบำรุงดิน การวางแผน การผลิตและการจำหน่ายผลิตผลการเกษตร รวมตลอดถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน การอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินตลอดจนการจัดเขตที่ดินสำหรับอยู่อาศัย และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ใดให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของที่ดิน ผู้รับจำนอง ผู้ซื้อฝากหรือผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินนั้น ให้นำหรือส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยเอกสารสิทธิที่เกี่ยวกับที่ดินนั้นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ณ สถานที่และภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อที่จะกำหนดแปลงที่ดินที่จะจัดให้เจ้าของที่ดินเดิมและผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดิน หากเจ้าของที่ดินรายใดไม่ยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจัดซื้อที่ดินนั้นเพื่อนำมาดำเนินการจัดรูปที่ดินได้และถ้าเจ้าของที่ดินดังกล่าวไม่ยอมขายหรือเสนอขายในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจดำเนินการเวนคืนที่ดินนั้นเพื่อดำเนินการจัดรูปที่ดิน จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการจัดรูปที่ดินเสียใหม่เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นเพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคโดยทั่วถึง และเพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ดินของตนเองสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของเกษตรกรมั่นคงขึ้น อันเป็นการแตกต่างจากการได้สิทธิในที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องในคดีนี้ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ได้ครอบครองและ ทำประโยชน์ในที่ดินโดยมี ส.ค. ๑ เป็นหลักฐานและอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งได้ดำเนินการขอรับการจัดรูปที่ดินด้วยแล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดรูปที่ดินให้เนื่องจากได้มีประกาศที่ ๑/๒๕๔๓ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ว่าที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินที่จะดำเนินการได้ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าวและมติต่าง ๆ อันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและให้จัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทั้งให้ระงับการก่อให้เกิดความเสียหายและปรับปรุงสภาพที่ดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิมนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าการไม่ดำเนินการจัดรูปที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางซิ่วเอ็น อึ้งพานิชย์ ที่ ๑ นายเสริมศักดิ์ วิทยาประสงค์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๑ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๓ หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๔ นายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๕ องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ที่ ๖ ประธานกรรมการบริหาร องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๒