แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๔๘
วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ การประปาส่วนภูมิภาค โจทก์ ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ภานุกรการก่อสร้าง ที่ ๑ นางวิสาขา ถวิลถึง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๗๑/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำสายพิพัฒน์กมลาไสยให้กับเทศบาลตำบลกมลาไสย ในระหว่างการก่อสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ใช้แบ็กโฮขุดดินเพื่อวางท่อระบายน้ำตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ โดยขุดตักดินบริเวณขอบถนนพิพัฒน์กมลาเขตโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังและไม่ตรวจสอบแนวท่อประปาของโจทก์ทำให้กระแทกถูกท่อประปาสำหรับจ่ายน้ำประปาที่วางไว้ใต้ดินของสำนักงานประปากาฬสินธุ์ อันเป็นหน่วยงานของโจทก์ แตกชำรุดเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมท่อประปาที่แตกชำรุดและน้ำประปารั่วไหลตั้งแต่วันเกิดเหตุเป็นเงินรวม ๑๖,๘๙๒ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มีมูลละเมิดมาจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำระหว่างจำเลยที่ ๑ กับเทศบาลตำบลกมลาไสยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนำข้อโต้แย้งอันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือสัญญาทางปกครองมาฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงเป็นการไม่มีอำนาจ กรณีการละเมิดซึ่งเกิดข้อพิพาทโต้แย้งกันระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองขอนแก่น
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อมูลกรณีพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้เป็นกรณีที่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำละเมิดและก่อความเสียหายแก่โจทก์ การที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง อันเนื่องมาจากการทำละเมิดโดยที่จำเลยทั้งสองเป็นเพียงบุคคลภายนอกมิใช่หน่วยงานทางปกครอง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า คดีนี้มูลละเมิดเกิดจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างรางระบายน้ำซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเทศบาลตำบลกมลาไสยตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑ และตามมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๔๔๒ ในการบำรุงรักษาทางและจัดให้มีทางระบายน้ำซึ่งการจัดให้มีรางระบายน้ำก็เพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาล ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่เทศบาลตำบลกมลาไสยซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้เป็นผู้ก่อสร้างรางระบายน้ำ จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้ทำการแทนเทศบาลตำบลกมลาไสย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช้ความระมัดระวังในการก่อสร้างโดยใช้รถแบ็กโฮขุดตักดินเพื่อวางรางระบายน้ำเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย การกระทำตามฟ้องจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเทศบาลตำบลกมลาไสยโดยผ่านทางจำเลยทั้งสองเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้อื่น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณีลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง ซึ่งใช้รถแบ็กโฮขุดตักดินบริเวณขอบถนนโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ทำให้กระแทกถูกท่อประปาของโจทก์แตกชำรุดเสียหาย ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนเท่านั้น และแม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นคู่สัญญากับเทศบาลตำบลกมลาไสยตามสัญญาจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กสายพิพัฒน์กมลาเขตก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็มิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง การประปาส่วนภูมิภาค โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภานุกรการก่อสร้าง ที่ ๑ นางวิสาขา ถวิลถึง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท พลโท
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๔