คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยอีกต่อไป เพราะศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น โทษปรับตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 4, 6, 20, 62 ทวิ, 69, 71 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 แต่พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วนพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุก จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น โทษปรับตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาท เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง, 87 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง, 141 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 ปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share