แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาก่อนมีการปฏิรูปที่ดินและมิได้เช่าจากโจทก์ แต่เมื่อทางราชการประกาศให้เขตที่ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาททั้งสองย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อโจทก์ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองมาแต่เดิมหาได้ไม่
ปัญหาว่าโจทก์ไม่ใช่เกษตรกรและไม่มีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดิน ตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 นั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจและอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหาอาจนำมาอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิแก่โจทก์ได้ไม่ และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 โจทก์จึงสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองต้องไปดำเนินการทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเพิกถอนสิทธิของโจทก์ต่อไป หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 1,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดิน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางเหลืองซึ่งเป็นภริยายื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางชอ้อนทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาก่อนมีการปฏิรูปที่ดินและมิได้เช่าจากโจทก์ แต่เมื่อทางราชการประกาศให้เขตที่ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินพิพาททั้งสองย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด เมื่อโจทก์ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองมาแต่เดิมหาได้ไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่ใช่เกษตรกรและไม่มีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดิน ตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 นั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจและอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องไปว่ากล่าวเอาแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหาอาจนำมาอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิแก่โจทก์ได้ไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 โจทก์จึงสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองต้องไปดำเนินการทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรม เพื่อเพิกถอนสิทธิของโจทก์ต่อไป หาอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาทแทนโจทก์.