คำวินิจฉัยที่ 27/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๑

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

ศาลจังหวัดสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๙ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โจทก์ผู้รับโอนบรรดาอำนาจหน้าที่และบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลัง ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๖๔ ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด วีระจิตต์ ที่ ๑ นางปรีชญาหรือรุจิรา ปิยะเวช ที่ ๒ นายเกษม เรือนสวัสดิ์ ที่ ๓นางสาววิภาวรรณ เถื่อนม่วง ที่ ๔ นายมงคล อ่อนแก้ว ที่ ๕ นายประยูร อ่อนแก้ว ที่ ๖ นายวิรัตน์ โตแย้ม ที่ ๗ นายชิด อ่อนแก้ว ที่ ๘ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๙ ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๓๖/๒๕๔๙ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ สำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ ๑ รวม ๒ สัญญา ตามสัญญาเลขที่ ๗/๒๕๔๐ ในราคา ๖,๖๔๙,๕๐๐ บาท และสัญญาเลขที่ ๘/๒๕๔๐ ในราคา ๓๙,๘๒๓,๑๕๐บาท จำเลยที่ ๙ ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองไว้ต่อโจทก์จำนวน๓๓๒,๔๗๕ บาท และ ๑,๙๙๑,๔๒๐ บาท ตามลำดับ จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ภายในกำหนด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๙๗๙,๐๔๐.๑๐ บาท พร้อมทั้งเรียกเงินค้ำประกันจากจำเลยที่ ๙ เป็นเงิน ๒,๓๒๓,๙๐๕ บาท กับมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ชำระค่าปรับตามสัญญาและแจ้งริบหลักประกันจากจำเลยที่ ๙ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ เพิกเฉยทำให้สำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติและโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งปวงในลำดับต่อมาได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าปรับตามสัญญาทั้งสองจำนวน ๑,๙๗๙,๐๔๐.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖เป็นเงิน ๒,๗๒๑,๕๘๖.๘๐ บาท และให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๙ ชำระเงินค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งสอง จำนวน ๒,๓๒๓,๙๐๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์๒๕๔๖ เป็นเงิน ๓,๑๙๕,๘๔๖.๘๖ บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ไม่ได้กระทำผิดสัญญา แต่เป็นการที่สินค้าดังกล่าวในสัญญาจากต่างประเทศไม่มีตามประเภทที่ระบุไว้ในสัญญา จำเลยที่ ๑และที่ ๖ ไม่สามารถนำมาส่งมอบแก่โจทก์ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย และโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๖ได้มาตกลงกันใหม่แล้วโดยกำหนดขนาดและประเภทสินค้ากันใหม่ แต่โจทก์กลับเปิดประมูลสินค้ากับผู้อื่น เบี้ยปรับสูงเกินส่วน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่มีผล ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๙ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์กับผู้ขายรายใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย เงินตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๙ ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ใช่เงินมัดจำอันโจทก์จะพึงริบได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๙ เพราะโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและทวงถามจำเลยที่ ๙ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๙ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๙ ถือเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาประธาน เมื่อสัญญาประธานเป็นสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง สัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโจทก์ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนและนโยบายในการ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาของชาติตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังนั้นกิจการของโจทก์จึงเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับการศึกษาและเมื่อพิจารณาสัญญาซื้อครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดโจทก์เพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เห็นได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่โจทก์ใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นสัญญาที่โจทก์จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๙ ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาดังกล่าว คดีของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น หากสัญญาใดเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐมุ่งผูกพันตนกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และมิได้มีลักษณะตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ดังกล่าว สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง คดีนี้แม้ว่าสัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ตามสัญญาเลขที่ ๗/๒๕๔๐ และสัญญาเลขที่ ๘/๒๕๔๐ กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และมีจำเลยที่ ๙ เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาก็ตาม แต่สัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายที่เกิดจากโจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันแสดงเจตนาโดยสมัครใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตกลงมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อีกทั้งสัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะสัญญาพิพาทไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ จัดทำบริการสาธารณะแต่อย่างใด เพียงแต่หากโจทก์ได้รับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ตามสัญญาพิพาทจากจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ก็จะมาดำเนินการเอง สัญญาพิพาทใน คดีนี้จึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โจทก์ เป็นผู้รับโอนบรรดาอำนาจหน้าที่และบรรดากิจการทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลัง ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๖๔ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓มิถุนายน ๒๕๔๐ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ ๑ รวม ๒ สัญญา ในราคา ๖,๖๔๙,๕๐๐ บาท และ๓๙,๘๒๓,๑๕๐บาท โดยมีจำเลยที่ ๙ ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองจำนวน ๓๓๒,๔๗๕บาท และ ๑,๙๙๑,๔๒๐ บาท ตามลำดับ จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ภายในกำหนด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๙๗๙,๐๔๐.๑๐ บาท พร้อมทั้งเรียกเงินค้ำประกันจากจำเลยที่ ๙ เป็นเงิน ๒,๓๒๓,๙๐๕ บาท กับมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าปรับและแจ้งริบหลักประกันจากจำเลยที่ ๙ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ เพิกเฉย ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติและโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งปวงในลำดับต่อมาได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าปรับตามสัญญาทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๙ ชำระเงินค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ไม่ได้กระทำผิดสัญญา แต่เป็นการที่สินค้าดังกล่าวในสัญญาจากต่างประเทศไม่มีตามประเภทที่ระบุไว้ในสัญญา จำเลยที่ ๑ และที่๖ไม่สามารถนำมาส่งมอบแก่โจทก์ จึงเป็นเหตุสุดวิสัย และโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ได้มาตกลงกันใหม่แล้วโดยกำหนดขนาดและประเภทสินค้ากันใหม่ แต่โจทก์กลับเปิดประมูลสินค้ากับผู้อื่น เบี้ยปรับสูงเกินส่วน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่มีผล ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๙ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์กับผู้ขายรายใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย เงินตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๙ ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ใช่เงินมัดจำอันโจทก์จะพึงริบได้ โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและทวงถามจำเลยที่ ๙ ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายการประถมศึกษาและแผนพัฒนาการประถมศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดทำงบประมาณและจัดสรรเงินงบประมาณและเงินอื่นที่นำมาใช้เพื่อการจัดการประถมศึกษา จัดทำมาตรฐานด้านวิชาการ ติดตามและประเมินผลการจัดการประถมศึกษา รวบรวมข้อมูล วิจัย และส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการประถมศึกษา ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๓ อันเป็นภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำ การที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ตกลงซื้อครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์จากจำเลยที่ ๑โดยกำหนดให้ส่งมอบครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาที่ได้รับจัดสรรนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของเด็กนักเรียนอันเป็นการให้การศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของเด็กนักเรียนดังกล่าว จึงเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติให้บรรลุผล สัญญาซื้อขายครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ทั้งปวงของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ส่วนสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ แม้โดยลำพังแล้วย่อมเป็นสัญญาทางแพ่งก็ตาม แต่เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีระจิตต์ ที่ ๑ นางปรีชญาหรือรุจิรา ปิยะเวช ที่ ๒ นายเกษม เรือนสวัสดิ์ที่ ๓ นางสาววิภาวรรณ เถื่อนม่วง ที่ ๔ นายมงคล อ่อนแก้ว ที่ ๕ นายประยูร อ่อนแก้ว ที่ ๖นายวิรัตน์ โตแย้ม ที่ ๗ นายชิด อ่อนแก้ว ที่ ๘ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๙ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share