คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947-6948/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานกรณีรับฟังพยานเอกสารที่ไม่มีการปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ร้องยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้าง คอนโดมิเนียม และสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติม ผู้คัดค้านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวกับผู้ร้อง เพียงแต่ปฏิเสธว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมหรือไม่ การที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยถึงความมีอยู่ของสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้าง ซึ่งได้ชำระค่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง แล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณา โดยให้เรียกบริษัท บ. ซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนแรกและเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกบริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนแรกและเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 9/2557 หมายเลขแดงที่ 27/2559
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 9/2557 หมายเลขแดงที่ 27/2559
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน และบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 9/2557 หมายเลขแดงที่ 27/2559 โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 22,576,382.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,126,124.44 บาท นับถัดจากวันยื่นคำเสนอข้อพิพาท (ยื่นคำเสนอข้อพิพาทวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น และให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 00019/200189/0053/54 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 7,000,000 บาท และหนังสือค้ำประกันการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 00019/200189/0052/54 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 5,000,000 บาท แก่ผู้ร้อง และให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าป่วยการในชั้นอนุญาโตตุลาการกึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 390,000 บาท แก่สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของผู้คัดค้านให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ผู้คัดค้านทำสัญญาว่าจ้างผู้ร้องออกแบบและก่อสร้างโครงการบี คอนโด จำนวน 2 หลัง และทำสัญญาจ้างงานเพิ่มเติมอีก 2 ช่วง โดยสัญญาดังกล่าวข้อ 8 ระบุว่า หากเกิดข้อโต้แย้งระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้ หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติแห่งสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 9/2557 หมายเลขแดงที่ 27/2559 และคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 22,576,382.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,126,124.44 บาท นับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระแก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น และให้ผู้คัดค้านคืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 7,000,000 บาท และหนังสือค้ำประกันการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 5,000,000 บาท แก่ผู้ร้อง
คดีนี้ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ดังนั้น นอกจากข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์จะต้องชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 (เดิม) แล้ว เหตุที่จะยกอ้างตามอุทธรณ์ต้องเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ด้วย โดยปัญหาว่า กรณีมีเหตุที่ผู้คัดค้านจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากรับฟังว่าการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้อง ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟัง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย กรณีจึงมิใช่การโต้แย้งด้วยเหตุตามมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ซึ่งประเด็นนี้ผู้คัดค้านอุทธรณ์แต่เพียงว่า คณะอนุญาโตตุลาการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการรับฟังพยานหลักฐาน โดยรับฟังว่าอาคารชุดก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยมิได้โต้แย้งว่าข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้อย่างไร ส่วนปัญหาว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานในกรณีที่รับฟังพยานหลักฐานที่ไม่มีการปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ร้องยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างโครงการบี คอนโด และสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติม ผู้คัดค้านไม่ได้ปฏิเสธว่าผู้คัดค้านไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวกับผู้ร้อง เพียงแต่ปฏิเสธว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติม การที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยถึงความมีอยู่ของสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้าง ซึ่งได้ชำระค่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง แล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานสัญญาจ้างทำของเพิ่มลดที่มิได้มีการปิดอากรแสตมป์เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยผู้คัดค้านนำสืบไว้แล้วว่า สัญญาจ้างทำของมี 2 ส่วน คือ สัญญาจ้างทำของหลักและสัญญาจ้างทำของเพิ่มลด (สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเพิ่มเติม) แม้สัญญาจ้างทำของหลักจะมีการปิดอากรแสตมป์ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร แต่สัญญาจ้างทำของเพิ่มลดยังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังสัญญาจ้างทำของเพิ่มลดในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท จึงเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประเด็นนี้มุ่งโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้โต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และเป็นเหตุยกเว้นที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 ได้อย่างไร เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองข้อจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองสำนวน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share