คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง มีความมุ่งหมายให้คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันไปเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างให้รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างเหตุว่ากรรมการจำเลยที่ 2 ซึ่งก็คือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่อันเป็นการลดตำแหน่งโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่เป็นธรรม เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินภายหลังเลิกจ้าง คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่เป็นการลดตำแหน่งและค่าตอบแทนในการว่าจ้างของโจทก์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุแห่งการออกคำสั่งย้ายงานโจทก์ของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องในคราวเดียวหรือแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 11,576,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายเงินจำนวน 50,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองขอถอนฟ้องแย้ง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการขายและซ่อมบำรุงรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาเจริญนครมาปฏิบัติหน้าที่พนักงานขายที่สำนักงานใหญ่ โจทก์ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2546 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 4648/2547 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2548 คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 4648/2547 ของศาลแรงงานกลางเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยที่ 2 เลิกจ้าง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับเกี่ยวกับค่าเสียหายทั้งคดีนี้และคดีก่อนเป็นอย่างเดียวกันและมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 และออกคำสั่งในนามของจำเลยที่ 2 ย้ายงานโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะนายจ้างโจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดจากจำเลยทั้งสองผู้เป็นนายจ้างอันเนื่องมาจากการออกคำสั่งย้ายงานโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 4648/2547 ต่อศาลแรงงานกลางเพื่อเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างที่หักไว้ และเงินอื่น ๆ เป็นเรื่องเดียวกันอันเป็นการฟ้องซ้อนหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น” ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวก็คือคดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันไปเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างให้รับผิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยอ้างเหตุว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 นายตุลย์ กรรมการจำเลยที่ 2 ซึ่งก็คือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่อันเป็นการลดตำแหน่งโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินภายหลังเลิกจ้าง คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นการลดตำแหน่งและค่าตอบแทนในการว่าจ้างของโจทก์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งจากจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้าง จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุเดียวกันคือเหตุแห่งการออกคำสั่งย้ายงานโจทก์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง การฟ้องคดีทั้งสองเรื่องต่อศาลแรงงานกลางเป็นการเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวกับการออกคำสั่งของนายจ้างที่มีต่อโจทก์ในคราวเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องในคราวเดียวกันหรือขอแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างที่คดีหมายเลขดำที่ 4648/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share