แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน 45 วันต่อปี ติดต่อกัน 2 ปี โดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบ ไม่ถือเป็นความผิดและไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หนังสือทัณฑ์บนมีข้อความเพียงบอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าถูกงดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 2 ปีติดต่อกันอาจถูกเลิกจ้างได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือน โจทก์ถูกเลิกจ้างฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยอ้างเหตุหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ และค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ โดยลากิจและลาป่วยเกิน ๔๕ วันต่อปี เป็นเวลา ๒ ปี ติดต่อกัน และผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้แก่จำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย การที่โจทก์แสดงเจตนาขอรับเงินบำเหน็จแล้วไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก เพราะตามข้อบังคับของจำเลยถือว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าชดเชยว่าตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้อ ๒๑ (๔)กำหนดให้เลิกจ้างพนักงานที่หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานข้อ ๓๐ กำหนดให้พนักงานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบและแบบธรรมเนียมขององค์การ ส่วนข้อ ๓๑ กำหนดให้พนักงานต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่กิจการขององค์การ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้ ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า การที่โจทก์ทั้งสองลากิจและลาป่วยเกิน ๔๕ วันต่อปี ติดต่อกัน ๒ ปีนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างใด ส่วนหนังสือทัณฑ์บนตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๑ เป็นเพียงการบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองทราบล่วงหน้าว่า หากโจทก์ทั้งสองถูกงดขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ๒ ปี ติดต่อกันอาจจะถูกเลิกจ้างได้ กรณียังถือไม่ได้ว่าหนังสือทัณฑ์บนดังกล่าวเป็นหนังสือตักเตือนตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเพราะการลากิจและลาป่วยของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิด การที่โจทก์ทั้งสองถูกเลิกจ้างฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยให้อำนาจผู้อำนวยการของจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ แต่การเลิกจ้างในกรณีเช่นนี้ไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน