คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648-1649/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะเป็นการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ชำระหนี้รับช่วงสิทธิของผู้รับชำระหนี้มาฟ้องร้องเอาจากผู้ที่ตนชำระหนี้แทน แต่กรณีของคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยผู้รับชำระหนี้เสียเอง จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(3)
การที่ผู้เช่าชำระหนี้ค่าภาษีแทนผู้ให้เช่าในนามของผู้ให้เช่าตามความผูกพันในสัญญาเช่า ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า และพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับชำระหนี้จากผู้เช่าแล้ว ถือได้ว่าผู้เช่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ เมื่อปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีเกินไป ผู้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินนั้นคืนได้ ถ้าหากได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 8 กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินแก้หรือคำนวณค่ารายปีใหม่ได้เมื่อมีเหตุให้เห็นว่าค่าเช่าระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรและมีข้อเท็จจริงว่าปรากฏเหตุเช่นนั้น หากค่าเช่าไม่ได้น้อยจนเกินสมควรหรือไม่มีเหตุที่น่าจะเห็นได้ว่าผู้ให้เช่าและผู้เช่าสมยอมกันแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็ต้องประเมินค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนค่าเช่าที่ผู้เช่าชำระให้แก่ผู้ให้เช่า

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลได้พิจารณาพิพากษารวมกันโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องความว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเช่าฉบับปี ๒๕๒๓ – ๒๕๓๗ เป็นการเช่าที่ดิน อาคาร ยานพาหนะและทรัพย์สินอื่น ๆ ค่าเช่าเฉพาะโรงเรือนและที่ดินในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๕ ปีละ ๙๗๙,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ปีละ ๑๒๒,๔๐๐ บาท แต่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ได้แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวประจำปี ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๕ เป็นเงินปีละ ๘,๑๓๕,๒๙๖.๓๐ บาท ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ได้ทักท้วงไปยังจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๔ แต่จำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ ฟ้องคดีต่อศาลให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธไม่ยอมฟ้องคดีและจำเลยที่ ๒ สั่งให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยที่ ๓ ประเมินเรียกเก็บ อันเป็นการจงใจทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งการประเมินภาษีและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ให้โจทก์รับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ ๑ เป็นเงินเพียงปีละ ๑๒๒,๔๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์เสียเกินไปเป็นเงินจำนวนปีละ ๘,๐๑๒,๘๙๖.๓๐ บาท ทั้งสองปีพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทั้งสองสำนวนให้การ ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เพราะเป็นหน่วยราชการด้วยกัน มีมิตคณะรัฐมนตรีห้ามไว้มิให้ฟ้องร้องกันและจำเลยที่ ๒ เห็นคล้อยตามเหตุผลของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จำเลยที่ ๒ แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งการประเมินภาษีของจำเลยที่ ๓ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ ๔ เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะปฏิบัติตามหรือไม่ย่อมเป็นเรื่องของโจทก์เองจำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ทั้งสองสำนวนให้การว่า การประเมินภาษีของจำเลยที่ ๓ และคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่ใช่ผู้รับประเมินภาษีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การประเมินภาษีทั้งปี ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๕ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินไว้ว่าจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราค่าเช่าปีละ ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทตามอัตรานี้จะต้องเสียค่าภาษีจำนวนปีละ๗,๘๕๗,๑๔๔.๘๕ บาท แต่ตามสัญญาเช่าโจทก์จะต้องเสียค่าภาษีแทนจำเลยที่ ๑ กับต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันวินาศภัยเป็นเงินปีละ ๒,๒๒๕,๒๒๗.๖๐ บาท แทนจำเลยที่ ๑ ด้วย ต้องถือว่าเงินทั้งสองจำนวนนี้เป็นเงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ได้เช่าโรงเรือนและที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าเช่า ดังนั้น จำนวนเงินค่ารายปีที่จำเลยที่ ๑ ได้รับทั้งหมดจึงเป็นเงินปีละ๖๕,๐๘๒,๓๗๐.๔๕ บาท ซึ่งต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ ๘,๑๓๕,๒๙๖.๓๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๔ ขอพิจารณาการประเมินภาษีนั้นใหม่และแจ้งยืนยันว่าพอใจเสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ ๒,๒๙๑,๖๖๗ บาท จำเลยที่ ๔ มีคำชี้ขาดให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๑ ทราบคำสั่งแล้วมิได้ฟ้องร้องภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันทราบคำสั่งของแต่ละปี การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงเป็นอันยุติ โจทก์ฟ้องคดีไม่ได้ หากจำเลยที่ ๑ มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการประเมินก็มีสิทธิขอเพิกถอนเฉพาะส่วนที่เกินจากจำนวน ๒,๒๙๑,๖๖๗ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ ๓ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๔ ให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องปีละ ๒,๒๙๑,๖๖๗ บาท ให้จำเลยที่ ๓ คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่ชำระเกินไปจำนวน ๑๑,๖๘๗,๒๕๘.๖๐ บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยที่ ๓ เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๑,๖๘๗,๒๕๘.๖๐ บาท นับถัดจากวันครบกำหนดสามเดือนดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์เสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และคำขอของโจทก์มากไปกว่านี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องปีละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๓ คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่ชำระเกินไปจำนวน ๑๖,๐๒๕,๗๙๒.๖๐ บาท กับดอกเบี้ยของเงินจำนวนนี้ ตามอัตราและระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกา
ในปัญหาซึ่งจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๔๐ ผู้รับประเมินต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้รับประเมิน โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าไม่ใช่ผู้รับประเมินและตามมาตรา ๓๑ ผู้รับประเมินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ โจทก์มิใช่ผู้รับประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโดยผลของสัญญาเช่า โจทก์มีความผูกพันร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่จะต้องใช้หนี้ค่าภาษี โจทก์จึงย่อมได้รับช่วงสิทธิจากจำเลยที่ ๑ เรียกเงินค่าภาษีที่ชำระเกินจากจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๒๙(๓) นั้น เป็นการไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ไม่มีความผูกพันกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ โจทก์ไม่ได้มีส่วนต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ ๑ และไม่มีบทบัญญัติใด ๆ ให้โจทก์ร่วมรับผิดในเงินภาษีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๒๙(๓) ทั้งจำเลยที่ ๑ มิได้นำคดีมาฟ้องภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดการประเมินของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ โจทก์หรือบุคคลใดจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จะเป็นการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ชำระหนี้รับช่วงสิทธิของผู้รับชำระหนี้มาฟ้องเรียกร้องเอาจากผู้ที่ตนชำระหนี้แทน แต่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ผู้รับชำระหนี้เสียเอง กรณีหาต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๒๙(๓) ไม่แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีแทนจำเลยที่ ๑ ในนามของจำเลยที่ ๑ ตามความผูกพันในสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์นั้น จะถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้หาได้ไม่ ทั้งจำเลยที่ ๓ ก็ยอมรับชำระหนี้จากโจทก์แล้ว หากปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ เรียกเก็บภาษีเกินไป จำเลยที่ ๓ ก็หามีสิทธิที่จะยึดเงินส่วนที่เกินไว้โดยไม่คืนให้แก่ผู้มีสิทธิในเงินจำนวนนั้นไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ชำระเงินส่วนที่อ้างว่าเกินนั้นโจทก์ย่อมเรียกเงินส่วนนั้นคืนได้ หาจำต้องให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เรียกให้แต่อย่างใดไม่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไป และฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จะเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินได้เป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๘ กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สิน และค่ารายปีให้หมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่งเท่าใดถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ ในปัญหาเกี่ยวกับค่าเช่าศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เช่าที่ดินและโรงเรือนที่จำเลยที่ ๓ เรียกเก็บภาษีโดยเรียกค่าเช่าปีละ ๑ ล้านบาท ในเบื้องต้นจึงต้องถือว่าค่าเช่าจำนวน ๑ ล้านบาทเป็นค่ารายปีสำหรับคิดค่าภาษีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๘ และจากพยานหลักฐานโจทก์ จำเลยก็ฟังได้ว่าในปี ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๑ ได้ให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เช่าที่ดินและโรงเรือนรายเดียวกันในอัตราค่าเช่าปีละ ๑ ล้านบาท และจำเลยที่ ๓ ได้ถือค่ารายปีจำนวน ๑ ล้านบาทเป็นหลักในการคำนวณเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๘ กำหนดให้ใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ฉะนั้นในปี ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๓ จึงถือเอาค่ารายปีสำหรับ ๒๕๒๓ ซึ่งมีจำนวน ๑ ล้านบาทมาเป็นหลักในการคำนวณคิดภาษีตามบทบัญญัติดังกล่าว
ในปัญหาที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกาว่าค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ ๑ ไม่เหมาะสมเพราะราคาที่ดินสูงขึ้น การผลิตสุราของโจทก์มีรายได้สูงขึ้น ค่าวัสดุก่อสร้างโรงงานสูงขึ้น ตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ จำเลยที่ ๓ มีอำนาจแก้จำนวนค่ารายปีใหม่เป็นจำนวน ๖๕ ล้านบาทได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อ้างนั้น จำเลยที่ ๓ จะมีอำนาจแก้ไขค่ารายปีใหม่ได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุให้เห็นว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่๑ กับโจทก์ไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรเท่านั้น และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ต้องมีข้อเท็จจริงว่าปรากฏเหตุเช่นนั้นด้วย หากค่าเช่านั้นไม่ได้น้อยจนเกินสมควรหรือไม่มีเหตุที่น่าจะเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ กับโจทก์สมยอมกันแล้ว จำเลยที่ ๓ ก็ต้องประเมินค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามจำนวนค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ ๑ แม้พยานของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔จะเห็นว่าที่ดินและโรงเรือนที่จำเลยที่ ๑ ให้โจทก์เช่านาจะมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะมีการตัดถนนผ่านที่ดินบางแปลง ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าที่ดินข้างเคียงมีการเช่ากันในอัตราค่าเช่าเท่าใดสูงกว่าที่จำเลยที่ ๑ ให้โจทก์เช่าหรือไม่เพียงใด จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เพียงแต่อ้างว่าค่ารายปีต้องเป็นจำนวน ๖๕ ล้านบาท โดยเป็นค่าเช่าปีละ ๕๕ ล้านบาท กับค่าประกันวินาศภัยและค่าภาษีที่โจทก์ต้องออกแทนจำเลยที่ ๑ อีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งค่าเช่าจำนวน ๕๕ ล้านบาทต่อปีนั้นหาใช่เป็นค่าเช่าเฉพาะที่ดินและโรงเรือน แต่รวมทรัพย์สินอื่นและเครื่องจักรด้วย ทั้งไม่ใช่ค่าเช่าที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้คำนวณเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมเพราะที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ กำหนดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ระบุค่าเช่าจำนวนดังกล่าวไว้ในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยผิดพลาดเท่านั้น ส่วนที่จำเลยที่ ๓ เอาค่าประกันภัยและค่าภาษีมารวมกับค่าเช่าปีละ ๕๕ ล้านบาทเป็น ๖๕ ล้านบาท ก็ปรากฏว่าโจทก์ต้องประกันวินาศภัยทรัพย์สินทั้งหมดที่เช่าจากจำเลยที่ ๑ เฉพาะโรงเรือนที่โจทก์เช่า โจทก์จะต้องเสียค่าประกันวินาศภัยเป็นจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏ พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงยังฟังไม่ได้แน่นอนว่า ค่าประกันภัยที่จำเลยที่ ๓ นำมารวมกับค่าเช่าเพื่อคิดค่ารายปีเป็นจำนวนเท่าใด การคำนวณค่ารายปีเพิ่มขึ้นของจำเลยที่ ๓ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่าเป็นการสมควรแต่อย่างใด จำเลยที่ ๓ จึงต้องถือเอาค่าเช่าที่จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บจากโจทก์ปีละ ๑ ล้านบาทเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีเพื่อเรียกเก็บภาษีรายนี้
พิพากษายืน.

Share