คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์จึงฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ปัญหาจึงมีเพียงว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ คดีไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิม กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในอัตราเท่ากับค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนถึงก่อนรับโจทก์กลับเข้าทำงาน 1 วันจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยมีข้อบังคับองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2520 ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้างซึ่งถือได้ว่าข้อบังคับนี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและยังไม่ถูกยกเลิกจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามข้อ 7(4) และ (9) แห่งข้อบังคับดังกล่าวและพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 23(1)จึงเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123ซึ่งโจทก์ต้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน ตามมาตรา 124 เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้อพิพาทคดีนี้เป็นกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงโจทก์จึงฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ดังนั้นปัญหาจึงมีเพียงว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างใดก่อนที่จะดำเนินคดีในศาลแรงงานคดีไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณามาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทั้งข้อบังคับฉบับที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ก็เป็นข้อบังคับที่จำเลยรับว่า จำเลยได้จัดให้มีขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share