คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยโดยนำสัญญาเช่าอาคารและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่ามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน มีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญา ให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทได้ทันทีต่อมาโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงโอนสิทธิการเช่ามาเป็นของจำเลยดังนี้ เมื่อโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงคิดราคาค่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินนั้นในเวลาโอนสิทธิการเช่า จึงขัดต่อข้อความดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง และเป็นโมฆะตามวรรคสาม การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทมาเป็นของจำเลยตกเป็นโมฆะและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์ย่อมยกเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆะกรรมขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

สำนวนแรก นางสุฟ้าเป็นโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยโดยเอาหนังสือสัญญาเช่าอาคารกับคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวให้จำเลยไว้เป็นประกัน ถ้าไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยนำหนังสือสัญญาเช่ากับคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าไปทำการโอนสิทธิการเช่าเป็นของจำเลยได้ โจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืนหนังสือสัญญาเช่ากับคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าแต่จำเลยกลับกรอกข้อความลงในคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าแล้วโอนเป็นของจำเลย ขอให้จำเลยส่งมอบหนังสือสัญญาเช่าอาคารและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารคืนให้โจทก์ และเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าอาคารโดยให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป นางยิ้นจำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยชำระหนี้ให้จำเลย หนังสือสัญญาเช่าอาคารและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคาร ศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้เก็บรักษาไว้มิได้อยู่ที่จำเลยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ตกลงยินยอมโอนสิทธิการเช่าอาคารให้จำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง นางยิ้นเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท และใช้ค่าเสียหาย นางสุฟ้าจำเลยให้การต่อสู้คดีทำนองเดียวกับที่เป็นโจทก์ฟ้องสำนวนแรก
สำนวนที่สาม นางยิ้นเป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ย นางสุฟ้าจำเลยให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันตลอดเรื่อง
ศาลชั้นต้นเรียกนางสุฟ้าว่าโจทก์ และนางยิ้นว่าจำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์ ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากอาคารพิพาทให้ใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะออกจากอาคารพิพาท และให้โจทก์ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนางสุฟ้าอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าอาคาร ยกฟ้องโจทก์สำนวนที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำเลย 60,000 บาท และนำหนังสือสัญญาเช่าอาคารศาสนสมบัติตึกแถวเลขที่ 982 ข. ถนนพลายชุมพล ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีเลขที่ 31/2517 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2517 และคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวมอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน โดยมีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวได้ทันทีตามเอกสารหมาย จ.5 และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม2521 โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำเลย 120,000 บาทและได้นำหนังสือสัญญาเช่าอาคารศาสนสมบัติดังกล่าว เลขที่ 63/2421ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2521 และคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารมอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน โดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ผิดสัญญา ให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวได้ทันทีตามเอกสารหมาย ล.2 ที่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 มีข้อกำหนดในสัญญาว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าได้ทันที ตามสัญญากำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ไม่ชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาจำเลยจึงได้จัดการโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทเป็นของจำเลยการโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 และโจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงเรื่องการโอนสิทธิการเช่า ศาลอุทธรณ์ยกข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสามขึ้นวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ โจทก์เบิกความว่าได้กู้ยืมเงินจำเลยไป 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 กู้ยืมเงิน60,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2521 กู้ยืมเงิน120,000 บาท การกู้ยืมครั้งที่สองได้นำเอาหนี้เงินกู้ครั้งแรกและดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือนที่ค้างชำระมารวมเป็นต้นเงินกู้ครั้งหลังด้วย จำเลยได้คืนสัญญากู้ครั้งแรกให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 สัญญากู้ครั้งที่สองตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยเบิกความว่าโจทก์ได้กู้ยืมเงินจำเลยหลายครั้ง ที่ทำหนังสือสัญญากู้ไว้มี3 ฉบับ ฉบับแรกกู้ยืมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 จำนวนเงิน60,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 ในปีเดียวกันโจทก์ได้กู้ยืมเงินเพิ่มอีก 30,000 บาท ได้ทำสัญญากู้ใหม่โดยรวมต้นเงินกู้เดิมเข้าด้วยเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2521 โจทก์ได้กู้ยืมเงิน 120,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.2 นายประพจน์ สมภาร เป็นคนเขียนสัญญานายประพจน์ สมภาร เบิกความว่า รับราชการที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี มีหน้าที่จัดประโยชน์เกี่ยวกับอาคารศาสนสมบัติเป็นผู้เขียนสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.5 ล.1 และ ล.2 หากโจทก์กู้ยืมเงินจำเลยได้ทำสัญญากู้เพียง 2 ฉบับ ฉบับแรกตามเอกสารหมายจ.5 ทำสัญญากู้ฉบับที่สองตามเอกสารหมาย ล.2 สัญญากู้ฉบับแรกตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยได้คืนแก่โจทก์แล้ว เหตุใดกลับมีสัญญากู้ตามเอกสารหมาย ล.1 อยู่กับจำเลยอีก 1 ฉบับ ตามคำเบิกความของจำเลยและนายประพจน์ ซึ่งเป็นผู้เขียนสัญญากู้ เชื่อว่าโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำเลยไว้ 3 ฉบับ ตามเอกสารหมายจ.5 ล.1 และ ล.2 ตามสัญญากู้แต่ละฉบับโจทก์ได้นำสัญญาเช่าอาคารศาสนสมบัติและคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวมอบให้จำเลยยึดไว้เป็นประกัน และมีข้อตกลงว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทได้ทันที และตามคำเบิกความของนายประพจน์ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2524 เวลา 9 นาฬิกา จำเลยฝ่ายเดียวนำหลักฐานการกู้เงินหนังสือทวงถามหนี้คำร้องขอโอนสิทธิการเช่าที่โจทก์ลงชื่อไว้ สัญญาเช่าอาคารพิพาท มาบอกว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ ขอให้จัดการโอนอาคารพิพาทให้จำเลยเป็นผู้เช่าพยานได้จัดการโอนให้จำเลยในวันนั้น รุ่งขึ้นโจทก์มาต่อว่าโอนสิทธิการเช่าทำไมไม่บอกให้โจทก์รู้บ้าง เชื่อว่าโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงคิดราคาค่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินนั้นในเวลาโอนสิทธิการเช่า จึงขัดต่อข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 656 วรรคสองและเป็นโมฆะตามวรรคสามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นการโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทมาเป็นของจำเลยจึงตกเป็นโมฆะและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมยกเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆะกรรมขึ้นวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
แล้ววินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้120,000 บาท ให้จำเลย และจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่จำเลยอีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.2 แล้ว
พิพากษายืน

Share