คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้ที่ดินของ ห. โดยการรับมรดกแทนที่ ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ผู้ร้องกับ ซ. ผู้จัดการมรดกของ ห. มีคดีฟ้องร้องกัน แม้ต่อมา ซ. และจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนที่ดินจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงจะไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากโจทก์นำมาแบ่งแยกและโอนให้แก่ผู้ร้องบางส่วน แต่ก็เป็นการตกลงหลังจากที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจาก ซ. และจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์แล้ว โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องจะต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สุจริตเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานแต่ผู้ร้องมิได้นำสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าโจทก์สุจริต เมื่อโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ สิทธิของผู้ร้องผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมยังมิได้จดทะเบียน ผู้ร้องจึงไม่อาจยกสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิจำนองโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองแม้ผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่อยู่แล้ว แต่ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนที่ดินของตนจากที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,879,111.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5ต่อปี ของต้นเงิน 3,306,541.25 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน หากไม่ชำระให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งงดการขายทอดตลาดและมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับทายาทโดยธรรมอื่นจำนวน 188 ตารางวา หรือมีคำสั่งแบ่งส่วนของผู้ร้องทั้งห้าให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าตามสิทธิ

โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งห้า

ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายหมัดจารุดดิน มินสาคร แทนที่นายชวลิต มินสาคร ทายาทโดยธรรมซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก ผู้ร้องทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอให้ถอนนางซะออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมัดจารุดดิน ระหว่างพิจารณานางซะจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 เนื้อที่ 338 ตารางวาให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมานางซะแถลงยอมรับเข้ามาในคดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายหมัดจารุดดิน นางซะจะไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 ส่วนที่มีบ้านเลขที่ 31/2 ปลูกอยู่ เนื้อที่ 150ตารางวา แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องทั้งห้า แต่นางซะไม่ดำเนินการตามที่ตกลง ผู้ร้องทั้งห้าจึงฟ้องนางซะกับจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการตามข้อตกลงแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนั้นว่านางซะกับจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 เพื่อนำมาแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 31/2 ปลูกอยู่ เนื้อที่ 150 ตารางวาให้แก่ผู้ร้องทั้งห้า ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 18485/2540 แต่นางซะกับจำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้จำนองเป็นคดีนี้ และนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าว่า ผู้ร้องทั้งห้ามีสิทธิขอกันส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 ที่โจทก์นำยึดไว้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 79890 ของนายหมัดจารุดดินโดยการรับมรดกแทนที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า “สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้นมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว” ผู้ร้องทั้งห้ากับนางซะผู้จัดการมรดกของนายหมัดจารุดดินมีคดีฟ้องร้องกัน แม้ต่อมานางซะและจำเลยที่ 1ผู้รับโอนที่ดินจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงจะไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากโจทก์นำมาแบ่งแยกและโอนให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าบางส่วน แต่ก็เป็นการตกลงหลังจากที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินจากนางซะและจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์แล้วโดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องทั้งห้าจะต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สุจริตเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ผู้ร้องทั้งห้ามิได้นำสืบหักล้างอย่างใด จึงฟังได้ว่าโจทก์สุจริต เมื่อได้ความว่าโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ สิทธิของผู้ร้องทั้งห้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมยังมิได้จดทะเบียน ผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่อาจยกสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิจำนองโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้ แม้ผู้ร้องทั้งห้าจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่อยู่แล้วแต่ผู้ร้องทั้งห้าก็ไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนที่ดินของตนจากที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้เพราะกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ชัดเจน ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่นางซะและจำเลยที่ 1 เป็นอย่างอื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share