คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอเลื่อนคดีของทนายความโจทก์อ้างว่า ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่เสียกะทันหันและอยู่ไกลร้านซ่อมรถ ไม่สามารถซ่อมรถได้ทัน จึงไปที่ศาลจังหวัดฝางเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กรณีตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดฝางในขณะนั้นตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 10 ได้ และในความตอนท้ายของมาตรา 10 นี้ บัญญัติให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเป็นอำนาจของศาลจังหวัดฝางที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของทนายความโจทก์ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้อง ปรากฏว่าศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งในคำร้องของทนายความโจทก์ดังกล่าวว่า จัดการให้ ดังนี้ เห็นว่า แม้คำสั่งของศาลจังหวัดฝางจะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ แต่คำสั่งที่ว่า จัดการให้ ก็ย่อมมีความหายเป็นการจัดการให้ตามคำร้อง กล่าวคือ ต้องถือเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้ตามคำร้องโดยปริยาย ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้น ที่โจทก์ไม่ไปศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจึงย่อมมิอาจถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีก่อนทราบคำสั่งของศาลจังหวัดฝางดังกล่าว จึงเป็นการสั่งไปโดยผิดหลง ข้อเท็จจริงต้องถือว่ามีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนแล้ว เมื่อศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องของทนายความโจทก์และคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทราบทางโทรสาร ศาลชั้นต้นจึงสมควรสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ผิดหลงนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 1,300,031 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,061,249 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เวลา 13.30 นาฬิกา ในวันนัด โจทก์และจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาโดยมิได้ยื่นคำร้องขอให้เลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลให้ทราบ ถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ และมีคำสั่งนัดพิจารณาคดีของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตรวจสำนวนแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีกระบวนพิจารณาใดที่ผิดระเบียบที่จะต้องเพิกถอน จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัด คู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาและมีคำสั่งในเวลา 15 นาฬิกา ถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ต่อมาเวลา 16 นาฬิกาวันเดียวกัน เจ้าพนักงานศาลเสนอรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์มาทางโทรสารเมื่อเวลา 15.45 นาฬิกา ปรากฏตามคำร้องของทนายความโจทก์ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานศาลดังกล่าวว่า ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปก่อนแล้ว จึงให้ยกคำร้องขอให้เลื่อนคดีของทนายความโจทก์ พิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายความโจทก์ดังกล่าวอ้างว่า ทนายความโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่เสียกะทันหันและอยู่ไกลร้านซ่อมรถ ไม่สามารถซ่อมรถได้ทัน ทนายความโจทก์จึงไปที่ศาลจังหวัดฝางเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยขอเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4 เมษายน 2543 กรณีตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดฝางในขณะนั้นตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 10 และในความตอนท้ายของมาตรา 10 นี้ บัญญัติให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเป็นอำนาจของศาลจังหวัดฝางที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของทนายความโจทก์ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้อง และปรากฏว่าศาลจังหวัดฝางมีคำสั่งในคำร้องของทนายความโจทก์ดังกล่าวว่า จัดการให้ ดังนี้ เห็นว่า แม้คำสั่งของศาลจังหวัดฝางจะไม่ชัดแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำร้องของทนายความโจทก์ แต่คำสั่งที่ว่า จัดการให้ ก็ย่อมมีความหมายเป็นการจัดการให้ตามคำร้อง กล่าวคือ ต้องถือเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้เลื่อนคดีไปได้ตามคำร้องโดยปริยาย ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้น ที่โจทก์ไม่ไปศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจึงย่อมมิอาจถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีก่อนทราบคำสั่งของศาลจังหวัดฝางดังกล่าว จึงเป็นการสั่งไปโดยผิดหลง ข้อเท็จจริงต้องถือว่ามีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลชั้นต้นที่ต้องสั่งเพิกถอนแล้ว เมื่อศาลจังหวัดฝางส่งคำร้องของทนายความโจทก์ทางโทรสารและคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทราบ ศาลชั้นต้นจึงสมควรสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ผิดหลงนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share