แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น แม้จำเลยไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลอาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้
การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้เพียงครั้งเดียวจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการพิจารณาไม่ได้ และ ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาลไว้ว่า เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วยโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วนและกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม จึงไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยาน
การใช้สิทธิฟ้องขับไล่ในฐานะเจ้าของทรัพย์ปกป้องทรัพย์สินของตนไม่ให้จำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ ส่วนการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด เมื่อครบกำหนดไถ่คืนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืนและโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไปจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ตราบใดที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกไปการละเมิดก็ยังคงอยู่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 เลขที่ดิน 104 ตำบลทุ่งกระพังโหม (ที่ถูก ตำบลกระพังโหม) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 มีเงื่อนไขว่าให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากภายใน 3 เดือนนับแต่วันจดทะเบียนการขายฝาก แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2528 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมกันครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิและนำที่ดินไปให้จำเลยที่ 3 เช่า โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยเป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์สามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 350 บาท นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 38,908 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 เลขที่ 104 ตำบลทุ่งกระพังโหม (ที่ถูก ตำบลกระพังโหม) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 38,908 บาท แก่โจทก์และค่าเสียหายอีกเดือนละ 350 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การกับฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 ตำบลกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมให้แก่จำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้น หากโจทก์ไม่ยอมไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 350 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่โจทก์ในราคา 100,000 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน 3 เดือน ตกลงให้โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดิน ครบกำหนดตามสัญญาแล้วยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอนแต่โฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 อ้างว่าโฉนดที่ดินสูญหาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2541 ว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เรื่องค่าเสียหายโจทก์บรรยายกล่าวไว้ในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องไว้ จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนว่าจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลก็อาจกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ การชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182, 183 ไม่ได้กำหนดว่าในคดีแต่ละเรื่องนั้นให้มีการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้เพียงครั้งเดียว จะกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมขึ้นมาในระหว่างการพิจารณาไม่ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาล เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ขึ้นในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าในการชี้สองสถานครั้งแรกกำหนดประเด็นไว้ไม่ครบถ้วน และกำหนดให้โจทก์จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการสืบพยานแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าเมื่อครั้งแรกศาลชั้นต้นชี้สองสถานไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและโจทก์ไม่คัดค้านถือว่าสละประเด็นเรื่องค่าเสียหายแล้วนั้นไม่อาจนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาจำเลยทั้งสามประการที่สอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างเป็นประเด็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินให้ไว้แก่โจทก์ กำหนดราคาขายฝากและสินไถ่จำนวนเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2759 เลขที่ดิน 104 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์ กำหนดไถ่ถอนภายใน 3 เดือน ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนและไม่ยอมออกไปจากที่ดิน ทำให้เสียหาย ขอให้บังคับขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นฟ้องขอให้ขับไล่ฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ไม่ได้ให้บังคับตามสัญญาขายฝากหรือกล่าวหาว่าผิดสัญญาอันจะต้องกล่าวระบุรายละเอียดในข้อสัญญา โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับราคาขายฝากและสินไถ่ ฟ้องโจทก์เท่าที่บรรยายฟ้องมาได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่เคลือบคลุม
ฎีกาจำเลยทั้งสามประการที่สาม คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแล้วไม่ไถ่คืน และไม่ยอมออกไปจากที่ดินนั้นเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย การฟ้องขับไล่นั้นเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์ปกป้องทรัพย์สินของตนไม่ให้จำเลยทั้งสามซึ่งไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ ส่วนการเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด เมื่อโจทก์อ้างว่าครบกำหนดไถ่คืนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืนและโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไปเป็นการอยู่โดยละเมิด ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายย้อนหลังไป 1 ปี นับแต่วันฟ้องชอบแล้ว
ฎีกาจำเลยทั้งสามประการสุดท้าย จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 เบิกความว่าหลังจากจดทะเบียนการขายฝากไป 3 ถึง 4 วัน นายสมเกียรติ ธงชัยบริสุทธิ์ บิดาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1 ฉบับ จำนวนเงิน 300,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้ไปต่อหน้าผู้จัดการธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากำแพงแสน เช็คลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 แต่จำเลยที่ 1 เขียนเลขปี พ.ศ. ย่อว่า 27 คล้ายเลข 24 ตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 เป็นการชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินของนางสาวไผ่ เมฆปั้น ที่นำมาขายฝากกับโจทก์ด้วยจำนวน 200,000 บาท บิดาโจทก์ได้รับเงินตามเช็คไปแล้ว บิดาโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์รับว่าได้รับเงินตามเช็คจำนวน 300,000 บาท ตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 จริง แต่เป็นการรับเงินเมื่อปี 2524 ในมูลหนี้ซื้อขายสุกรโดยจำเลยที่ 1 ซื้อสุกรไปจากฟาร์มของบิดาโจทก์ เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนไม่อาจนำสืบผู้จัดการธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากำแพงแสน ที่อ้างว่ารู้เห็นการชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากด้วยเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 เนื่องจากหาตัวไม่พบ และไม่อาจนำสืบเอกสารการรับเงินตามเช็คดังกล่าวได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินเนื่องจากธนาคารทำลายเอกสารแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางสาวไผ่ เมฆปั้น เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากแล้วก็โดยจำเลยที่ 1 เล่าเรื่องให้ฟังเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟัง นายสมเกียรติบิดาโจทก์เบิกความในภายหลังมีโอกาสปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 แต่เบิกความยอมรับว่าได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท ตามเช็คดังกล่าว แสดงถึงว่านายสมเกียรติเบิกความอย่างตรงไปตรงมา จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเคยซื้อสุกรจากฟาร์มของนายสมเกียรติหลายครั้ง ต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล. 2 ระบุลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 24 เป็นเลข 4 ที่ชัดเจน ไม่ใช่เลข 7 จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบเอกสารอื่นที่จำเลยที่ 1 เขียนเลข 7 ว่าเหมือนเลข 4 เพื่อเปรียบเทียบพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามคงมีเพียงคำเบิกความจำเลยที่ 1 ลอย ๆ ว่าเลข 4 ในช่องวันที่ต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 นั้นความจริงเป็นเลข 7 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อตัวเลขที่ปรากฏ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสาม ฟังได้ว่าเช็คตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.2 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่บิดาโจทก์ชำระหนี้ค่าสุกรเมื่อปี 2524 ก่อนมีการขายฝากที่ดินพิพาทไม่ใช่เช็คชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทตกเป็นสิทธิของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน