คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่รับใบอนุญาต เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ในวาระเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
แม้ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ จะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 371 ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด มิได้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 371 และตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้ริบอาวุธปืนก็ตาม แต่อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนจึงเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด ซึ่งโจทก์ได้ขอให้ริบและอ้าง ป.อ. มาตรา 32 มาท้ายฟ้องแล้ว จึงริบอาวุธปืนของกลางได้
การที่ศาลสั่ริบอาวุธปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้จะมิได้ระบุกฎหมายที่ให้อำนาจริบไว้ก็ตาม ถือว่าศาลได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางครบถ้วนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบของกลางและนับโทษจำเลยต่อจากโทษอีกคดีหนึ่ง
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 98/2546 หมายเลขแดงที่ 88/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่า จำเลยพาอาวุธปืนและกระสุนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยมีเหตุสมควรแก่พฤติการณ์เพราะจำเลยเป็นผู้หญิงอาศัยอยู่ในป่าเพียงคนเดียว และเลี้ยงโคไว้เป็นจำนวนมาก จำเลยจำเป็นต้องพาอาวุธปืนไปเพื่อปกป้องทรัพย์สินของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น เห็นว่า เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ทั้งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยฎีกาในประการที่สองว่า ศาลล่างทั้งสองไม่มีอำนาจริบอาวุธปืนของกลางเพราะมิได้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ไม่ได้ให้อำนาจศาลสั่งริบ ทั้งศาลล่างทั้งสองมิได้อ้างบทกฎหมายที่ให้ริบของกลางเท่ากับไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) นั้น เห็นว่า อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน จึงเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดทั้งโจทก์ได้ขอให้ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางโดยอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 มาท้ายฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ แม้จะมิได้ระบุกฎหมายที่ให้อำนาจริบไว้ก็ตาม ถือว่าศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า การที่จำเลยมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแม้จะเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับหลายมาตราต่างกัน แต่จำเลยประสงค์เพียงเพื่อการครอบครองเป็นเจตนาเดียว การกระทำความผิดของจำเลยเป็นวันเวลาเดียวกันมิใช่ต่างวันเวลากัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ในวาระเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานมีและพาอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนนั้นก่ออาชญากรรมใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย เพราะโทษจำคุกระยะสั้นนอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไปได้ การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง อนึ่ง เมื่อมิได้ลงโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยฐานมีอาวุธปืน ปรับ 15,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share