คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วจึงจะรอการลงโทษให้ไม่ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วก็ตาม แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งระบุว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว เช่นนี้ ก็ไม่สามารถรอการลงโทษให้จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 33 และให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่มีดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้…และตามรายงานสืบเสาะและพินิจที่จำเลยไม่โต้แย้งคัดค้าน ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุก 5 ปี ในความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (เมทแอมเฟตามีน) ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2238/2540 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2544 ดังนั้น จำเลยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และเรื่องดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้องแต่อย่างใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในกำหนดโทษและพิพากษาลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share