คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ฎีกาว่ามิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 3 มีอาการคลุ้มคลั่งไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้คดีได้ก็เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 3 ว่า การที่ผู้เสียหายได้ออกจากบ้านบิดามารดาโดยไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่นมาก่อน เมื่อเลิกกับสามีจึงมาอยู่กับจำเลยที่ 3 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะพาผู้เสียหายไปค้าประเวณีจะเป็นการพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนี้ไว้ ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ใหม่ได้
เด็กหญิง อ. ผู้เสียหายอายุไม่เกินสิบห้าปีอาศัยอยู่กับมารดาจนปี 2537 ผู้เสียหายทะเลาะกับมารดาจึงออกจากบ้านไปทำงานที่ร้านอาหารข้างบ้าน จากนั้นผู้เสียหายมีสามีโดยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่ก็มิได้ทำการสมรส โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 20 และยังคงอยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดา เมื่อจำเลยที่ 3 พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นร่วมกันเป็นธุระจัดหาและชักพาเด็กหญิงอำพร แซ่ฟาง อายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจาร โดยพาไปติดต่อทำการค้าประเวณีที่สถานค้าประเวณีโดยเด็กหญิงอำพรยินยอม และจำเลยทั้งสามร่วมกันพรากเด็กดังกล่าวไปเสียจากนางนามี จะฮา มารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๒๘๑/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒, ๓๑๗, ๙๑ ให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๒๘๑/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ วรรคสาม, ๓๑๗ วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา ๒๘๒ วรรคสาม จำคุกคนละ ๖ ปี ฐานพรากเด็กตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม จำคุกคนละ ๖ ปี รวมจำคุกคนละ ๑๒ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๘ ปี ให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๖๕๑/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๔ ปี และฐานพรากเด็กจำคุก ๔ ปี รวมจำคุก ๘ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืนและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ กระทงละไม่เกิน ๕ ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่ามิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๓ มีอาการคลุ้มคลั่งไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อสู้คดีได้ก็เป็นการฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ ๓ เพียงว่า การที่ผู้เสียหายได้ออกจากบ้านบิดามารดาโดยไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่นมาก่อน เมื่อเลิกกับสามีจึงมาอยู่กับจำเลยที่ ๓ ก่อนที่จำเลยที่ ๓ จะพาผู้เสียหาย ไปค้าประเวณีจะเป็นการพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนี้ไว้ ศาลฎีกา จึงฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ใหม่ได้ ข้อนี้ได้ความจากผู้เสียหายและนางนามี จะฮา เบิกความความสอดคล้องกันรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายอาศัยอยู่กับนางนามี มารดาจนปี ๒๕๓๗ ผู้เสียหายทะเลาะกับนางนามีจึงออกจากบ้านไปทำงานที่ร้านอาหารข้างบ้าน จากนั้นผู้เสียหายมีสามีโดยอยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้เสียหายเลิกกับสามีจึงไปอยู่กับจำเลยที่ ๓ ก่อนที่จะถูกจำเลยที่ ๓ ชวนไปค้าประเวณี เห็นว่า การที่ผู้เสียหายไปอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่น แต่ก็มิได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายผู้เสียหายจึงยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐ ผู้เสียหายจึงยังคงอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของนางนามีหาได้ขาดจากอำนาจปกครองไปไม่ เมื่อจำเลยที่ ๓ พาผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพื่อพาผู้เสียหายไปค้าประเวณี การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากนางนามีมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำเลยที่ ๓ จึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share