คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันทำการค้าโดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงานคือเป็นผู้ดำเนินกิจการค้า จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 และมาตรา 1026 แม้จะเรียกข้อตกลงนั้นว่าเป็นสัญญาร่วมค้าขายก็หาทำให้มิใช่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองเลิกการเป็นหุ้นส่วนโดยยังไม่ได้จัดให้มีการชำระบัญชีก่อนตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ด้วยวิธีการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1062 เพียงแต่ทำการเคลียร์บัญชีแล้วพบว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ต้องคืนทุนและกำไรบางส่วนให้โจทก์ทั้งสองเท่านั้นโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อปี 2535 ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าหุ้นกันทำการค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกางเกงยีนร่วมกันโดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงาน โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ดำเนินกิจการค้าด้วยตนเองและสินค้าที่ร่วมหุ้นกันทำการค้าคือเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกางเกงยีนทั้งใหม่และเก่าซึ่งผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกิจการค้าในช่วงแรกไม่สะดวกจึงได้แบ่งปันผลประโยชน์กัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงคืนเงินทุนให้โจทก์จำนวน2,093,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2536 โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตกลงทำสัญญาร่วมหุ้นส่วนการค้ากันใหม่โดยให้นำสินค้าและเงินสดที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องส่งคืนให้โจทก์ทั้งสองจำนวน 2,093,000 บาท ไปเป็นทุนร่วมกันในการค้าครั้งใหม่งวดแรกจำนวน 2,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 93,000 บาท จำเลยที่ 1ถึง 4 ได้มอบคืนให้โจทก์เป็นเงินสดและการร่วมหุ้นส่วนกันครั้งนี้มีข้อตกลงว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองได้ออกเงินสดเป็นทุนให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ไปซื้อสินค้ามาจำหน่ายเป็นลอต ๆ ครั้นจำหน่ายสินค้าได้แล้วให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำเงินสดในส่วนที่เป็นทุนที่รับไปจากโจทก์ทั้งสองเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสองจนครบ ส่วนผลประโยชน์ที่เป็นกำไรมี ข้อตกลงว่าจะต้องขายสินค้าในราคาต่ำสุดให้ได้กำไร21 เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน แล้วเอาผลกำไรนั้นมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง 7 เปอร์เซ็นต์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จำนวน 14 เปอร์เซ็นต์ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2536 ถึงเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ได้เบิกเงินสดจากโจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าจำนวน 65,732,391 บาท เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าสุขภาพไม่ดีประสงค์จะเลิกกิจการ โจทก์ทั้งสองจึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาตกลงเพื่อเคลียร์บัญชีกัน โจทก์ทั้งสองตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 ถึง 4ผิดสัญญาหลายประการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ต่อศาลแขวงพระโขนง ระหว่างดำเนินคดีอาญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้ร่วมกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ทำการฉ้อฉลโดยโอน และรับเอาทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้มาจากการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไปเป็นของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องคืนเงินทุนพร้อมเงินส่วนแบ่งกำไรทั้งหมดจำนวน 17,301,267 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ชำระเงินคืนแก่โจทก์แล้วจำนวน1,670,760 บาท จึงคงค้างเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องคืนให้แก่โจทก์จำนวน 15,630,507 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4คนใดคนหนึ่งหรือทุกคนร่วมกันชำระเงินทุนคืนทั้งที่เป็นเงินสดที่เบิกไปจากโจทก์ทั้งสองจำนวน 12,700,000 บาท และเงินทุนที่ได้จากส่วนแบ่งที่เป็นผลประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง 7 เปอร์เซ็นต์จำนวน 4,601,267 บาท รวมเป็นเงิน 15,630,507 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน4ฬ – 4086 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 6 เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน5ศ – 1333 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 7 และเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 234066 พร้อมบ้านเลขที่ 1213/18 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5กับเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน 3ฝ – 6676 กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 4กับจำเลยที่ 5 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ชำระเงินทุนให้แก่โจทก์ดังกล่าว ขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึง 4 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ถึง 7 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ขอให้เพิกถอนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึง 7

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกาพออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 วรรคหนึ่งแล้ว

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้มีการชำระบัญชีกันแล้วหรือไม่และมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นการทำสัญญาร่วมค้าขายเท่านั้น การเลิกหุ้นส่วนกันจึงมีลักษณะเป็นการเลิกกิจการค้าและเคลียร์บัญชีต่อกันเท่านั้น ถือว่าเป็นการชำระบัญชีกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แล้วปรากฏว่ามีทุนของโจทก์ทั้งสองเหลืออยู่ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินรวม 15,630,507 บาท โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายชัดเจนว่า เมื่อปี 2535 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าหุ้นทำการค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกางเกงยีนร่วมกันโดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงานโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ดำเนินกิจการ สินค้าที่ร่วมหุ้นกันทำการค้าคือเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกางเกงยีน แม้โจทก์ทั้งสองจะบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่าเนื่องจากกิจการค้าในช่วงแรกไม่สะดวกจึงได้แบ่งปันผลประโยชน์กัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงคืนทุนให้โจทก์ทั้งสองจำนวน 2,093,000 บาท โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงทำสัญญาร่วมหุ้นค้าขายกันใหม่และมีวิธีการดำเนินการตลอดจนถึงการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องจัดทำไว้ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ถึง 13 และเรียกการกระทำในภายหลังนี้ว่าเป็นสัญญาร่วมค้าขาย มีลักษณะเป็นการรวมหุ้นโดยมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่จากคำฟ้องดังกล่าวสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงานคือเป็นผู้ดำเนินกิจการค้าและกิจการค้าก็คือค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกางเกงยีนอยู่เช่นเดิมโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดความรับผิดในเรื่องหนี้ของหุ้นส่วนนั้นแต่อย่างใด การตกลงในครั้งหลังเป็นแต่เพียงกำหนดวิธีการเบิกจ่ายเงินลงทุนจากโจทก์ทั้งสองว่าจะต้องทำอย่างไรและเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับภาระหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ถึง 4 จะต้องทำในระหว่างทำการค้าด้วยเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 และมาตรา 1026 ทุกประการฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองจะเรียกข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าเป็นสัญญาร่วมค้าขายกันก็ตามก็หาทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิใช่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยมิได้จดทะเบียนแต่ประการใดไม่ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องคืนทุนและกำไรบางส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือเอกสารใด ๆ ในคำฟ้องพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้จัดการให้มีการชำระบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง และได้มีการกระทำดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1062 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉะนั้นวิธีการเคลียร์บัญชีหรือชำระบัญชีตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์นั้นจึงหาใช่เป็นการชำระบัญชีตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หมวด 2 ตั้งแต่มาตรา 1061 ถึง 1063 แต่อย่างใดไม่ สรุปแล้ว เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เลิกห้างโดยที่ยังไม่มีการชำระบัญชีกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายถูกต้องกับข้อเท็จจริงแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share