แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุผลตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างเป็นเพียงข้อตกลงและมีผลต่อกันว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยครอบครองและทำการจำหน่ายสินค้าของผู้เสียหาย อันเป็นพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงในการที่จำเลยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์นี้ แม้ผู้เสียหายจะอนุญาตหรือยินยอมให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยครอบครองอยู่นั้นได้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่การครอบครองทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยจะกลายเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ทันที เมื่อจำเลยกระทำการเบียดบังเอาทรัพย์หรือราคาทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นของจำเลยโดยมีเจตนาทุจริตตามบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ฉะนั้น การที่ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ จึงหาใช่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์แต่อย่างใดไม่
จากข้อความที่ปรากฏในเอกสารได้ความแต่เพียงว่า เงินค่าราคาสินค้าที่จำเลยรับมาจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายมีจำนวน 94,729 บาท จำเลยจะนำมาส่งคืนให้ผู้เสียหายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อความหรือพฤติการณ์ใดเลยว่า ผู้เสียหายได้ตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีทางอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่จำเลยได้กระทำขึ้นให้ระงับหรือเลิกกันไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 238,329 บาท (ที่ถูก 238,249 บาท)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 14 เดือน ให้จำเลยคืนโทรทัศน์สี 8 เครื่อง และตู้เย็น 6 ใบ แก่ผู้เสียหาย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 94,729 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยเบิกโทรทัศน์สีของผู้เสียหายไปขาย 8 เครื่อง ราคา 58,639 บาท และจำเลยเบิกตู้เย็นจากผู้เสียหายไปขาย 6 ใบ ราคา 36,090 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 14 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุเป็นที่สงสัยตามสมควรจึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอฟังลงโทษจำเลยได้เพราะการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.30 ถึง 1.43 จำเลยเห็นว่าพฤติการณ์ของข้อเท็จจริงตามคำฟ้องข้อ 1.30 ถึงข้อ 1.43 นั้น จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่อนุญาต แต่ในกรณีของคดีนี้ผู้เสียหายได้อนุญาตให้จำเลยมีสิทธิได้โดยชอบด้วยกฎหมายในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งทำสัญญาเช่าซื้อและเก็บเงินตามเอกสารหมาย จ.2 ให้สิทธิจำเลยที่จะปฏิบัติต่อสินค้าของโจทก์ จึงเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง จำเลยไม่ได้มีเจตนาทุจริต และหากผู้เสียหายเสียหายจริงก็ชอบที่จะได้รับการบรรเทาค่าเสียหายในทางคดีแพ่งโดยจำเลยมีเงินประกันการขายตั้งแต่ปี 2538 อีกร้อยละ 10 นั้น เห็นว่า เหตุผลตามที่จำเลยยกขึ้นมาในฎีกาข้อนี้ตามที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้อตกลงและมีผลต่อกันว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยครอบครองและทำการจำหน่ายสินค้าของผู้เสียหายตามรายการสินค้าในคำฟ้องข้อ 1.30 ถึง 1.43 อันเป็นพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงในการที่จำเลยได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำความผิดฐายักยอกทรัพย์นี้ แม้ผู้เสียหายจะอนุญาตหรือยินยอมให้จำเลยทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยครอบครองอยู่นั้นได้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่การครอบครองทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยจะกลายเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ทันที เมื่อจำเลยกระทำการเบียดบังเอาทรัพย์หรือราคาทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นของจำเลยโดยมีเจตนาทุจริต ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ฉะนั้น การที่ผู้เสียหายไม่อนุญาตให้จำเลยเข้าครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ จึงหาใช่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์แต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยนั้นรับกันฟังได้แล้วว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ครอบครองสินค้าของผู้เสียหายตามคำฟ้องข้อ 1.30 ถึง 1.43 ซึ่งจำเลยจะอยู่ในฐานะคู่ค้าหรือฐานะอี่นใดก็ตาม และจากข้อตกลงต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างมาในฎีกา คือข้อตกลงในข้อ 2, 3, 4, 5, 9, 10 และข้อ 16 ในเอกสารหมาย จ.2 นั้น ก็เป็นเพียงการที่ผู้เสียหายให้สิทธิจำเลยจะทำการจำหน่ายและรับผิดต่อสินค้าของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยได้ดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบโดยเฉพาะคำเบิกความของนายเสน่ห์ สุทธิช่วย ประกอบกับเอกสารหมาย จ.5 นั้น มีเหตุผลและน้ำหนักให้น่ารับฟังข้อเท็จจริงได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยต้องกันมาว่า เมื่อจำเลยได้รับมอบการครอบครองสินค้าของผู้เสียหายตามคำฟ้องข้อ 1.30 ถึง 1.43 มาแล้วนั้น จำเลยได้กระทำการเบียดบังเอาราคาค่าสินค้าดังกล่าวเหล่านั้นไปเป็นของจำเลยเสียเองโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว ส่วนการที่ผู้เสียหายให้จำเลยหาหลักประกันมาค้ำประกันการรับมอบสินค้าของผู้เสียหายไปจำหน่ายนั้นมีผลเพียงว่าจำเลยจะได้เป็นผู้ที่น่าไว้วางใจสำหรับผู้เสียหายที่ผู้เสียหายจะมอบสินค้าของตนให้จำเลยไปครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อผูกพันที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ในทางแพ่งก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันทั่ว ๆ ไปในทางการค้า หากว่าจำเลยกระทำการไปโดยทุจริต แต่การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยอาจเป็นเพียงการผิดสัญญาในสัญญาทางแพ่งก็ได้และอาจจะเป็นความรับผิดในทางอาญาก็ได้ หากคดีได้ความว่า จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาราคาสินค้าของผู้เสียหายเป็นของตนดังกล่าวมาข้างต้น สรุปแล้วพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ได้กระทำการเบียดบังเอาราคาค่าสินค้าตามคำฟ้องข้อ 1.30 ถึงข้อ 1.43 เป็นของจำเลยจริง
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปที่ว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 นั้นกระทำขึ้นที่ใด รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าและการจ่ายเงินของลูกค้าเกิดขึ้นที่ใด ที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายนั้น ปัญหาดังกล่าวหาใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาไม่ แต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เห็นว่า แม้ในทางนำสืบของโจทก์จะไม่มีหลักฐานใด ๆ ของโจทก์ยืนยันว่า เอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 จัดทำขึ้น ณ ที่ใด เมื่อใด ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำสืบพยานหลักฐานโจทก์และอ้างเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยก็หาได้ปฏิเสธหรือโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวให้ฟังได้เป็นอย่างอื่นแต่อย่างใดไม่ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงบางส่วนที่เป็นประเด็นในคดีที่ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวนั้นได้ ส่วนจำเลยจะมีฐานะเป็นเพียงคู่ค้าของผู้เสียหายหรือมีฐานะใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญและไม่ใช่องค์ประกอบความผิดดังกล่าวมาแล้ว จากพยานหลักฐานของโจทก์เห็นว่ามีเหตุผลและน้ำหนักฟังได้ว่า คดีนี้เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยและตามคำให้การในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ซึ่งเป็นคำให้การของนายพยงค์ กองคลัง นายสมใจ คล้ายมะลวน และนายสมบูรณ์ ธาดาจร ตามลำดับ มีเหตุผลและน้ำหนักให้ฟังได้ว่า เหตุยักยอกทรัพย์คดีนี้เกิดที่ตำบลหัวเตย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ว่าพยานโจทก์ดังกล่าวนั้นจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอและแมและกิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ก็ตาม ก็หาทำให้คดีน่าเชื่อฟังว่าเหตุเกิดที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ดังที่จำเลยฎีกาไม่ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอำนาจสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า นายเสน่ห์ สุทธิช่วย ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายกับจำเลยได้เจรจายอมความกันโดยเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สิทธิของผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์และโจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) เห็นว่า จากข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าวนั้นได้ความแต่เพียงว่า เงินค่าราคาสินค้าที่จำเลยรับมาจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายมีจำนวน 94,729 บาท จำเลยจะนำมาส่งคืนให้ผู้เสียหายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อความหรือพฤติการณ์ใดเลยว่า ผู้เสียหายได้ตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีทางอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่จำเลยได้กระทำขึ้นให้ระงับหรือเลิกกันไป ดังจะเห็นได้ชัดจากถ้อยคำในเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกับคำเบิกความของนายเสน่ห์พยานโจทก์ที่ว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยทุจริตยักยอกราคาทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้ว ผู้เสียหายจึงได้มอบอำนาจให้นายเสน่ห์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยไปจนถึงที่สุด พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้ฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.5 มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับไปดังจำเลยฎีกาแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักพอฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน