คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2055/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ประกันประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันถูกศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ผู้ประกันอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ประกันยื่นฎีกาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 อันเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาจึงต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นฎีกา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่แก้ไขแล้ว และใช้บังคับในขณะที่ผู้ประกันยื่นฎีกาบัญญัติไว้ว่า “กรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น กรณีของผู้ประกันจึงเป็นที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันจำเลยตามสัญญาประกัน เป็นจำนวนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ผู้ประกันยื่นฎีกาเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ อันเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๓๒ มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ประกันจึงต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ขณะยื่นฎีกา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๑๙ ที่แก้ไขแล้ว และใช้บังคับในขณะที่ผู้ประกันยื่นฎีกา บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น กรณีของผู้ประกันจึงเป็นที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีการับวินิจฉัยไม่ได้
พิพากษายกฎีกาผู้ประกัน

Share