แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีล้มละลายเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2539 จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อดินจากโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,582,650 บาท จำเลยทั้งสองขุดดินของโจทก์แล้วและชำระเงินให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระจำนวน 1,232,650 โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,232,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.48/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,232,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก 1,232,650 บาท
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.48/2542 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีล้มละลายดังกล่าวแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ขอให้ชำระหนี้ในมูลหนี้รายเดียวกันกับคดีล้มละลาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องคดีล้มละลาย คดีถึงที่สุดโดยโจทก์ไม่ฎีกา เห็นว่า คดีล้มละลายโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นคนล้มละลาย อันเป็นฟ้องเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล ประเด็นจึงมีว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย คดีทั้งสองจึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1 โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ.6 ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์และโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.2 ระบุให้จำเลยที่ 2 จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เช่นว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่ ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขายดินเอกสารหมาย จ.3 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีอาชีพเลี้ยงกุ้ง ไม่เคยประกอบอาชีพขายดินมาก่อน ฝ่ายจำเลยทั้งสองก็ไม่นำสืบว่าโจทก์มีอาชีพขายดินเป็นปกติธุระ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์มีอาชีพเลี้ยงกุ้ง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าขายดินเป็นปกติธุระ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามสัญญาจะซื้อขายดินเอกสารหมาย จ.3 มีเงื่อนไข ข้อตกลงและมีปริมาณเนื้อที่ดินที่จะขายถึง 20 ไร่ ลักษณะข้อตกลงดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายดินวันที่ 20 มกราคม 2539 แต่โจทก์ฟ้องวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า เงื่อนไขและข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาระหว่างคู่กรณีเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบเป็นอย่างอื่นว่านอกจากโจทก์ขายดินให้จำเลยทั้งสองแล้วโจทก์ยังขายดินให้บุคคลอื่นอีก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบการค้าตามบทบัญญัติดังกล่าว อายุความจึงไม่ใช่ 2 ปี แต่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลล่างทั้งสองศาลและชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์