แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาและอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางพรภิมล ภริยาของผู้ตาย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ก่อนเริ่มสืบพยาน นางพรภิมล ภริยาของผู้ตาย ผู้ร้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท
จำเลยแถลงว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง และจำเลยไม่ติดใจยื่นคำให้การแก้คดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, และมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 15 ปี 12 เดือน ริบหมอนรองกระสุนปืนลูกซอง เศษลูกกระสุนปรายกระสุนปืนลูกซอง และลูกกระสุนปรายตะกั่วกระสุนปืนลูกซองของกลาง ส่วนแผ่นพลาสติกมีรอยกระสุนของกลางไม่ริบ แต่ให้คืนแก่เจ้าของ และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,880,000 บาท แก่โจทก์ร่วม (ผู้ร้อง) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม กับยกคำร้อง (คดีส่วนแพ่ง) ของโจทก์ร่วม (ผู้ร้อง) แต่ให้ริบของกลาง ยกเว้นแผ่นพลาสติก ของกลาง ให้คืนแก่เจ้าของ ค่าฤชาธรรมเนียม (คดีส่วนแพ่ง) ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่มีและพาอาวุธปืนลูกซองไปยังบริเวณถนนที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุต่างก็เบิกความยืนยันว่า ก่อนเสียงปืนดัง พยานเห็นจำเลยชักอาวุธปืนลูกซองสั้นออกมาส่ายไปมา และหลังจากผู้ตายถูกยิงล้มลงแล้ว พยานเห็นจำเลยถืออาวุธปืนวิ่งหนีเข้าไปในป่าอ้อยข้างทาง การที่จำเลยวิ่งหนีเข้าไปในป่าอ้อยก็เป็นข้อพิรุธของจำเลยที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นคนยิงผู้ตายจึงต้องหลบหนี และน่าเชื่อว่าจำเลยตั้งใจใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเนื่องจากจำเลยโกรธแค้นผู้ตายเพราะถูกผู้ตายชกต่อยตามที่นายขจรศักดิ์พยานจำเลยเบิกความรับในข้อนี้ ประกอบกับผู้ตายวิ่งอยู่ข้างหลังพวกของผู้ตาย นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ตายกับพวกวิ่งหนีจำเลยกลับไปที่รถกระบะที่จอดอยู่ข้างศาลาที่เกิดเหตุ ก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่าเพราะผู้ตายกับพวกเห็นจำเลยชักอาวุธปืนลูกซองสั้นออกจากเอวมาเล็งใส่ผู้ตายกับพวกจริง ส่วนที่จำเลยเบิกความอ้างว่าผู้ตายกับพวกวิ่งหนีกลับไปที่รถกระบะ เพราะนายขจรศักดิ์พวกของจำเลยถือชะแลงจะเข้าไปช่วยจำเลยนั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังเป็นความจริงได้เพราะชะแลงที่นายขจรศักดิ์ใช้เป็นอาวุธนั้นไม่ใช่อาวุธร้ายแรงที่ผู้ตายกับพวกซึ่งมีจำนวนมากกว่าจะต้องเกรงกลัวถึงขนาดต้องวิ่งหนีไปพร้อมกันเช่นนั้น ทั้งความในข้อนี้นายสมหมายก็เบิกความว่า พยานได้เข้าไปห้ามนายขจรศักดิ์ไว้แล้ว นอกจากนี้จำเลยกับนายขจรศักดิ์และนางสาวอารีรัตน์ พยานจำเลยซึ่งเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุเบิกความไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะเสียงปืนดัง โดยจำเลยเบิกความว่า ขณะที่นายขจรศักดิ์ถือชะแลงวิ่งไล่ตามกลุ่มผู้ตายไปนั้น จำเลยซึ่งถอยหนีผู้ตายกับพวกและล้มลงได้ลุกขึ้นจากพื้นถนนแล้ววิ่งตามกลุ่มผู้ตายไปด้วย เมื่อจำเลยเห็นนายบอยเปิดประตูรถกระบะนำอาวุธปืนยาวออกมาเล็งใส่จำเลย จำเลยจึงวิ่งหายเข้าไปในศาลา เพื่อนของนายบอยตามเข้าไปเตะจำเลยจนล้มลง ระหว่างนั้นจำเลยได้ยินเสียงคนร้องว่า “เอกหลบ เอกหลบ” จำเลยจึงวิ่งหลบหนีไปทางหลังบ้านนางมาลัย ระหว่างวิ่งหนีจำเลยได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ถึง 3 นัด ติดต่อกัน แต่นายขจรศักดิ์พยานจำเลยกลับเบิกความว่า หลังจากจำเลยถูกผู้ตายกับพวกรุมทำร้าย จำเลยได้วิ่งหนีไปบนถนน พยานหยิบชะแลงจะเข้าไปช่วยจำเลย กลุ่มผู้ตายเห็นพยานถือชะแลงก็พากันวิ่งหนีไปที่บริเวณศาลา ส่วนจำเลยวิ่งไล่ตามกลุ่มผู้ตายไปที่ศาลา ขณะนั้นพยานยืนอยู่ที่ศาลาเห็นชายในกลุ่มผู้ตายนำอาวุธปืน (ยาว) ออกมาจากรถกระบะ พยานจึงวิ่งหนีไปหลังบ้านของนางมาลัยซึ่งเป็นป่าอ้อย ขณะวิ่งหนีพยานก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จำเลยไม่ได้ยิงผู้ตายเนื่องจากขณะนั้นจำเลยถูกทำร้ายล้มลงอยู่กับพื้น ส่วนนางสาวอารีรัตน์ พยานจำเลยเบิกความว่า ขณะที่จำเลยหนีกลุ่มผู้ตายเข้าไปในศาลา พยานเห็นชายคนหนึ่งในกลุ่มของผู้ตายเตะจำเลยล้มลงในศาลาแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทางรถกระบะของกลุ่มผู้ตายที่จอดอยู่ด้านข้างขวาของศาลา (หากหันหน้าเข้าหาศาลา) ตามคำเบิกความของนายขจรศักดิ์กับนางสาวอารีรัตน์ดังกล่าว แสดงว่าเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นในขณะที่จำเลยถูกทำร้ายล้มลงอยู่บนศาลาที่เกิดเหตุ หาใช่เสียงปืนดังขึ้นขณะที่จำเลยกำลังวิ่งหนีออกจากศาลาไปทางหลังบ้านนางมาลัยตามที่จำเลยเบิกความไม่ จึงเป็นข้อพิรุธของพยานจำเลย นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า หากเหตุการณ์เป็นดังที่นายขจรศักดิ์และนางสาวอารีรัตน์เบิกความก็น่าจะมีร่องรอยลูกกระสุนปรายกระสุนปืนลูกซองปรากฏที่พื้นศาลาหรือม้านั่งในศาลาให้เห็นบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ปรากฏให้เห็นเช่นนั้น กลับได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทสุริวงศ์ กับดาบตำรวจชำนาญ พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ซึ่งไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในวันรุ่งขึ้นว่า พยานตรวจพบรอยกระสุนปืนที่แผ่นพลาสติกโฆษณาของพรรคภูมิใจไทยที่ติดอยู่ใต้ชายคาด้านหน้าของศาลาที่เกิดเหตุ ซึ่งพยานยึดไว้เป็นของกลางและถ่ายรูปร่องรอยกระสุนปืนดังกล่าวไว้ตามภาพถ่าย และได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทรตนดล พนักงานสอบสวน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า พยานได้ส่งแผ่นพลาสติกโฆษณาของกลางดังกล่าวไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์หาวิถีกระสุนปืน ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสาร กับภาพถ่าย โดยโจทก์และโจทก์ร่วมได้นำพันตำรวจโทตะวัน ผู้เชี่ยวชาญงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน (ตำแหน่งขณะเกิดเหตุ) มาเบิกความรับรองรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง ซึ่งระบุว่าจากร่องรอยดังกล่าวเชื่อได้ว่าถูกลูกกระสุนปืนยิง 1 ลูก โดยมีทิศทางการยิง (เมื่อหันหน้าเข้าหาศาลา) จากด้านซ้ายไปทางด้านขวา ทำมุมเงยขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยถืออาวุธปืนวิ่งไล่ตามกลุ่มผู้ตายมาตามถนนสายบ้านหัวเขา – บ้านโปร่งสวอง จากทางด้านซ้ายของศาลาที่เกิดเหตุ (เมื่อหันหน้าเข้าหาศาลา) มาทางศาลาที่เกิดเหตุ ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งนายจำลอง นายพิเชษฐ นายสาโรจน์กับนายณฐพร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ถูกผู้ตายล้มลงที่หน้าศาลาโดยเสียงปืนดังมาจากด้านที่จำเลยวิ่งตามหลังกลุ่มผู้ตายมา ยิ่งกว่านั้นคดียังได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทรตนดล พนักงานสอบสวน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า หลังเกิดเหตุพยานได้ยึดอาวุธปืนแฝดลูกซองที่นายสาโรจน์ใช้ยิงในวันเกิดเหตุมาเป็นของกลางและส่งอาวุธปืนดังกล่าวพร้อมเสื้อยืดของกลางตัวที่ผู้ตายสวมใส่ขณะถูกยิงไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ระยะการยิงด้วย ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีพันตำรวจโทตะวัน ผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางมาเบิกความรับรองรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ซึ่งในการตรวจพิสูจน์ได้ความว่า เสื้อยืดของกลางมีรอยถูกกลุ่มลูกกระสุนปืนกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ถ้าใช้ปืนลูกซองแฝดลูกซองยาวของกลางทดลองยิงจะต้องยิงที่ระยะประมาณ 20 เมตร จึงจะมีกลุ่มลูกกระสุนปืนกว้างเท่ากัน และพันตำรวจโทตะวันได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยืนยันว่า ตามภาพถ่ายประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ผู้ตายถูกยิงล้มลงบริเวณหน้าศาลาที่เกิดเหตุ ส่วนรถกระบะของคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนแฝดลูกซองยาวยิงนั้น ปรากฏว่ามีพยานให้การว่าจอดอยู่ทางด้านขวาของศาลาที่เกิดเหตุ ห่างจากผู้ตายประมาณ 3 เมตร เท่านั้น สอดคล้องกับภาพถ่ายนำชี้ที่เกิดเหตุ ที่นางมาลัย ป้าของจำเลยซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุชี้ยืนยันว่าพวกของผู้ตาย (หมายถึง นายสาโรจน์) ยืนถืออาวุธปืนยาวอยู่ข้างประตูซ้ายของรถกระบะ และสอดคล้องกับคำเบิกความของนายสาโรจน์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เบิกความว่า หลังจากจำเลยยิงปืน 1 นัด ถูกผู้ตายล้มลงแล้ว พยานได้เปิดประตูรถกระบะนำอาวุธปืนแฝดลูกซองยาวออกมาบรรจุกระสุนปืนแล้วยิงขึ้นฟ้า 2 นัด เพื่อข่มขู่จำเลยมิให้เข้ามายิงพยานกับพวกอีก ประกอบกับนายพิเชษฐและนายจำลองพยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่างก็เบิกความยืนยันว่า ขณะที่นายสาโรจน์ยิงปืน นายสาโรจน์อยู่ห่างจากผู้ตายประมาณ 4 ถึง 5 เมตร เท่านั้น ซึ่งระยะใกล้เพียง 4 ถึง 5 เมตร ดังกล่าว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ตายจะถูกลูกกระสุนปรายที่เกิดจากการยิงด้วยอาวุธปืนแฝดลูกซองยาวที่นายสาโรจน์นำมายิงขู่จำเลยเพราะระยะยิงดังกล่าวกลุ่มลูกกระสุนปรายจะกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร เท่านั้น ตามที่พันตำรวจโทตะวันทดลองยิงในการตรวจพิสูจน์ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ส่วนร่องรอยกลุ่มลูกกระสุนปรายที่เสื้อยืดของผู้ตายมีความกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ต้องยิงในระยะ 20 เมตร ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนี้คดียังได้ความตามคำเบิกความของนายณฐพรพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งยืนอยู่ใกล้ผู้ตายว่า ขณะผู้ตายถูกยิง จำเลยอยู่ห่างผู้ตายประมาณ 10 ถึง 14 เมตร โดยผู้ตายล้มลงอยู่จุดหมายเลข 1 ส่วนจำเลยยืนอยู่จุดหมายเลข 6 ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของศาลาที่เกิดเหตุ (เมื่อหันหน้าเข้าหาศาลา) ตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุประกอบสำนวนการสอบสวน โดยทั้งสองจุดจะอยู่ห่างกันประมาณ 10 ถึง 14 เมตร ตามที่นายณฐพรเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ซึ่งพันตำรวจโทตะวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความในข้อนี้ว่า หากเป็นการยิงโดยอาวุธปืนลูกซองสั้น กลุ่มลูกกระสุนปืนจะมีความกว้างกว่ายิงด้วยอาวุธปืนลูกซองยาวในระยะเดียวกัน ระยะที่จำเลยยิงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบดังกล่าว จึงสอดคล้องกับร่องรอยรูกระสุนปืนที่ปรากฏอยู่ที่ศพผู้ตายตามภาพถ่ายศพผู้ตาย และรายงานการตรวจศพ ซึ่งขณะถูกยิงผู้ตายน่าจะกำลังเอี้ยวตัวหันด้านข้างขวาเข้าหาจำเลยในขณะผู้ตายหันกลับไปมองจำเลยที่ถืออาวุธปืนลูกซองสั้นวิ่งตามหลังผู้ตายกับพวกมา ส่วนที่นายสาโรจน์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ขณะผู้ตายถูกยิงเป็นช่วงจังหวะที่ผู้ตายกำลังวิ่งหนีโดยเอี้ยวตัวไปทางซ้ายเพื่อมองจำเลยที่วิ่งตามหลังมานั้น น่าจะเป็นการเบิกความโดยพยานจำสับสนหรือจำคลาดเคลื่อนไป หาเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทำให้คำเบิกความของนายสาโรจน์ถึงกับรับฟังไม่ได้เสียทั้งหมดไม่ แม้นายณฐพร นายพิเชษฐกับนายสมหมายมิได้เบิกความยืนยันว่า พยานเห็นจำเลยลั่นไกยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวต่างก็เบิกความยืนยันว่า ก่อนที่นายสาโรจน์จะนำอาวุธปืนแฝดลูกซองยาวออกมายิงขึ้นฟ้า 2 นัด นั้น พยานเห็นจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในที่เกิดเหตุเพียงคนเดียว แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทิศทางที่จำเลยวิ่งตามผู้ตายมาแล้ว ผู้ตายได้ล้มลงไปที่พื้นที่หน้าศาลาที่เกิดเหตุทันที ส่วนที่นายจำลองพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยใช้มือข้างขวาหยิบอาวุธปืนออกมาแล้วยิงใส่ผู้ตาย แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนายจำลอง นายจำลองไม่ได้ให้การว่าเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมารับฟังเป็นข้อพิรุธของพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมข้อที่ว่าจำเลยชักอาวุธปืนออกมาส่ายไปมาและวิ่งไล่ตามผู้ตายกับพวกแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทิศทางที่จำเลยวิ่งตามผู้ตายกับพวกถึงกับรับฟังไม่ได้เสียทั้งหมด นอกจากนี้ยังปรากฏว่าตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ที่พนักงานสอบสวนจัดทำให้ตามที่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมนำชี้ ยังได้ระบุด้วยว่าจุดหมายเลข 5 ซึ่งเป็นจุดที่จำเลยยิงปืนใส่ผู้ตายและอยู่ใกล้จุดหมายเลข 8 ซึ่งระบุว่าเป็นกอมะเขืออยู่ห่างจากหน้าศาลาที่เกิดเหตุซึ่งผู้ตายถูกยิงล้มลง ประมาณ 15 เมตร มีหมอน (กระดาษ) รองกระสุนปืนลูกซองตกอยู่ด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายประกอบสำนวนการสืบสวน ตามพฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบดังกล่าวมานี้ เมื่อนำมารับฟังประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่มีและพาอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวมายังถนนที่เกิดเหตุอันเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้วจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงฆ่าตายจริงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ และคดีฟังได้ต่อไปตามรายการจากฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน ที่โจทก์ส่งอ้างว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อน ซึ่งย่อมเป็นเหตุผลอยู่ในตัวว่า จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับคดีส่วนแพ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง แม้ตามมาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีนี้ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคดีส่วนอาญาให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1