คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10461/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้ว ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 และมาตรา 880 มีความหมายว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 14,809,195.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,575,587.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,549,342.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 1,865.16 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของโจทก์นอกจากที่สั่งคืนและของจำเลยให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า กรมทางหลวงชนบททำสัญญาจ้างบริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างถนนลาดยาง AC สายแยกทางหลวงหมายเลข 34 (กิโลเมตรที่ 26) เชื่อมกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 จังหวัดสมุทรปราการ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 8.890 กิโลเมตร โจทก์รับประกันภัยโครงการจากบริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด จำเลยก่อสร้างหมู่บ้านโครงการชัยพฤกษ์ บางนา 2 ตำบลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้รถแบ็กโฮขุดลอกคลองสนามพลีซึ่งอยู่ใกล้กับแนวถนนโครงการ โดยตักดินขึ้นมาไว้ข้างคลอง เพื่อนำน้ำในคลองไปใช้ในโครงการของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับแนวถนนที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นถนนที่เกิดเหตุทรุดตัวและแตกร้าวได้รับความเสียหายเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร บริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการซ่อมแซมถนนที่เสียหายแล้ว ต่อมาโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นเงิน 14,575,587.02 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การขุดลอกคลองของจำเลยเป็นเหตุให้ถนนที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า การก่อสร้างถนนบริเวณที่เกิดเหตุไม่เป็นไปตามแบบแปลนที่มีการกำหนดให้ต้องสร้างกำแพงกันดินบริเวณติดกับคลอง การทรุดตัวแตกร้าวของถนนบริเวณที่ติดกับคลองเกิดจากการก่อสร้างผิดแบบไม่ได้มาตรฐาน ก่อสร้างผิดหลักวิศวกรรมนั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า การก่อสร้างถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีการตัดลดงานกำแพงดิน คสล. และเสาเข็มสำหรับกำแพงกันดินออกไปเนื่องจากไม่ได้ก่อสร้างคันทางชิดคลอง โดยทางบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการได้เสนอการแก้ไขเพิ่มเติมแบบให้กรมทางหลวงชนบทพิจารณา เมื่อกรมทางหลวงชนบทพิจารณาแล้วเห็นชอบและอนุมัติให้แก้ไขแบบแปลนก่อสร้างได้ โดยโจทก์มีนายสุวัฒน์ วิศวกรของบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และนายกนกกร ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างทางในเขตเมืองสุวรรณภูมิ กรมทางหลวงชนบทมาเป็นพยานสนับสนุนและยังได้ความว่าถนนที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากคลองประมาณ 10 เมตร โดยแนวคลองในช่วงดังกล่าวเป็นคลองตายซึ่งหมายถึง ต้นทางเป็นคลอง แต่เมื่อมาถึงจุดที่แบบออกไว้ให้ทำกำแพงดินนั้นไม่มีลักษณะเป็นคลอง นอกจากนี้ถัดขึ้นไปก็มีการปรับถมคลองเชื่อมเป็นถนนข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า แนวคลองในช่วงนั้นตื้นเขินไม่มีลักษณะเป็นคลองที่มีน้ำเต็มคลองให้ใช้สัญจรไปมาโดยทางเรือเป็นหลักอย่างในอดีตเพราะสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าคลองในช่วงดังกล่าวมีสภาพตื้นเขินทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ จำเลยจึงทำการขุดลอกคลองและสูบน้ำไปใช้จึงเกิดการยุบตัวและแตกร้าวของถนนที่เกิดเหตุจึงเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ ทั้งการปรับลดเนื้องานในโครงการมีการสำรวจตรวจสอบ โดยบริษัทที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างเส้นทางถนนที่เกิดเหตุมีรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมแบบก่อสร้างในส่วนอื่น ๆ ด้วยมิใช่การแก้ไขในจุดเกิดเหตุเพียงแห่งเดียว เมื่ออธิบดีกรมทางหลวงชนบทอนุมัติให้ดำเนินการตามที่มีการเสนอมาตามลำดับดังกล่าวและผู้ก่อสร้างทำการก่อสร้างถนนตามแบบก่อสร้างที่แก้ไขเพิ่มเติมที่มีการออกแบบตามมาตรฐานวิชาชีพของวิศวกรโครงการจะถือว่าเป็นการก่อสร้างผิดแบบแปลนมิได้ ฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า กรมทางหลวงชนบทมีข้อโต้แย้งกับผู้รับจ้างในข้อนี้และไม่ยอมตรวจรับงานเพราะเป็นความผิดของผู้รับจ้างแต่ประการใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังว่า การขุดลอกคลองของจำเลยเป็นสาเหตุโดยตรงของมูลเหตุที่ทำให้ถนนที่เกิดเหตุทรุดตัวและแตกร้าวได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุละเมิดของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ผู้เอาประกันไปเป็นเงิน 14,575,587.02 บาท ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และมาตรา 880 นั้น เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ชอบที่จะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันผู้เป็นเจ้าหนี้ได้และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเองซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกันตามความเสียหายที่แท้จริง คดีได้ความจากนายอภิลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเจอาร์เอ็มเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และนายชิด กรรมการผู้จัดการบริษัทซีซีลอว์ออฟฟิต จำกัด พยานโจทก์ที่ดำเนินการสำรวจประเมินราคาความเสียหายของถนนที่เกิดเหตุว่า นายอภิลักษณ์ทำการเข้าไปตรวจดูการซ่อมแซมความเสียหายหลังจากที่บริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด มีการซ่อมแซมถนนที่เกิดเหตุไปแล้ว นายอภิลักษณ์เพียงแต่ประเมินราคาเท่านั้นและทำรายงานเสนอต่อนายชิด แต่นายวันชัย พยานจำเลยซึ่งเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายให้เข้ามาสำรวจและออกแบบแก้ไขความเสียหายของถนนที่เกิดเหตุและได้เสนอแนวทางแก้ไขซ่อมแซมถนนที่เกิดเหตุไว้และประเมินค่าซ่อมแซมถนนที่เกิดเหตุไว้ประมาณ 7,000,000 บาท โดยมีรายละเอียดตามเอกสารและยังได้ความจากนายสมเกียรติ พยานศาล ซึ่งรับราชการอยู่ที่กรมทางหลวงชนบทตำแหน่งวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษซึ่งรู้เรื่องเกี่ยวกับถนนที่เกิดเหตุและเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณราคาการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมถนนที่เกิดเหตุเป็นราคาที่ถูกต้อง นายวันชัยและนายสมเกียรติ เป็นบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีถือว่าเป็นพยานคนกลาง จึงน่าเชื่อว่าถนนที่เกิดเหตุเมื่อมีการแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่ในวงเงิน 7,549,342.63 บาท ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายที่แท้จริงที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์พิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันไป นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์และผู้เอาประกันตกลงกันเอง กรณีไม่อาจนำมาเป็นฐานที่ตั้งเพื่อเรียกร้องเอาแก่จำเลยอย่างที่โจทก์ต้องการได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่นล้วนแต่เป็นความเข้าใจของจำเลยและมิใช่ข้อสาระสำคัญอันที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share