คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคำในภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นอกจากจะพิจารณาว่าคำดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้คำดังกล่าวในประเทศที่เป็นเจ้าของภาษานั้น ๆ และในประเทศไทยด้วยว่า คำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใดด้วย หาใช่พิจารณาเฉพาะคำแปลที่ปรากฏในพจนานุกรมที่แปลเป็นภาษาไทยแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วก็จะทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันที หรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ไม่ยาก จำเลยทั้งสองนำสืบว่าคำว่า SCOTCH เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยอ้างสำเนาพจนานุกรมของ ดร. ว. เพียงฉบับเดียวว่า คำดังกล่าวมีคำแปลว่า ตัด เฉือน กรีด โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนให้เห็นได้ว่า คำดังกล่าวมีความหมายเป็นที่เข้าใจกันในหมู่สาธารณชนทั่วไปว่าหมายถึง ตัด เฉือน กรีดจริง ฟังไม่ได้ว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่แปลหรือมีความหมายว่าการตัด การเฉือน การกรีด โดยใช้กรรไกรเท่านั้น จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากรรไกรโดยตรงและเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 752584 ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 670/2555 และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH ตามคำขอเลขที่ 752584 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH และ สก๊อตซ์ ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเทปกาวและเทปที่ติดด้วยแรงกดตั้งแต่ปี 2502 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า กรรไกร ตามคำขอเลขที่ 752584 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนโดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ตัดขาด เฉือน กรีด รอยตัด เมื่อใช้กับสินค้ากรรไกรที่ขอจดทะเบียนย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH ตามสำเนาพจนานุกรมของ ดร.วิทย์ แปลความหมายของคำดังกล่าวว่าหมายถึง ตัดขาด เฉือน กรีด รอยตัด เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า กรรไกร ทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH เป็นกรรไกรที่ใช้ในการตัดหรือกรีด นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นอกจากนี้หลักฐานที่โจทก์นำส่งยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH อ่านว่า สก๊อตซ์ ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้ากรรไกรเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากรรไกรจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) หรือไม่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำในภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะพิจารณาว่าคำดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้คำดังกล่าวในประเทศที่เป็นเจ้าของภาษานั้น ๆ และในประเทศไทยด้วยว่า คำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใดด้วย หาใช่พิจารณาเฉพาะคำแปลที่ปรากฏในพจนานุกรมที่แปลเป็นภาษาไทยแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาต่อไปว่า คำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว ก็จะทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันทีหรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ไม่ยาก ซึ่งในข้อนี้โจทก์มีนางเนตยา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SCOTCH ของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้ากรรไกรนั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลือกแปลความหมายตามสำเนาพจนานุกรมของ ดร. วิทย์ ว่าหมายถึง ตัด เฉือน กรีด ทั้งที่คำดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยแตกต่างกันหลายความหมาย โดยพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย ฉบับภาษาไทยบางฉบับไม่ได้แปลว่า ตัดขาด เฉือน กรีด รอยตัด เช่น ในสำเนาพจนานุกรม New Model English – Thai Dictionary ของ สอ ให้คำแปลคำว่า SCOTCH ว่าหมายถึง ทำเจ็บ กำจัด (ข่าวลือ) และสำเนาพจนานุกรม อ็อกฟอร์ด – ริเวอร์ บุ๊คส์ อังกฤษ – ไทย ก็ให้คำแปลคำดังกล่าวว่าหมายถึง ทำให้ผิดหวัง ขัดขวาง ยุติ ทำให้สิ้นสุด โดยไม่ปรากฏว่ามีคำแปลว่าหมายถึง การตัด เฉือน กรีด ด้วยแต่อย่างใด ดังนั้นแม้สำเนาพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย (ฉบับใหม่) ของเธียรชัย และสำเนาพจนานุกรม A New English – Thai Dictionary ของ ดร.วิทย์ ให้ความหมายของคำว่า SCOTCH ในกรณีเป็นคำกริยาหมายถึง ทำให้บาดเจ็บ ทำให้ผิดหวัง หยุด กำจัด ขจัด อุด ขัด ตัด เฉือน กรีด บาด ขัดขวาง ยุติ ทำให้สิ้นสุด ก็ตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าจำเลยทั้งสอง ฟังไม่ได้ว่าคำว่า SCOTCH เป็นคำที่แปลหรือมีความหมายว่า การตัด การเฉือน การกรีด โดยใช้กรรไกรเท่านั้น จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากรรไกรโดยตรง จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 670/2555 และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 752584 ต่อไปนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการใช้จนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share