แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะระบุเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร มีการยุบหน่วยงานบางหน่วยซึ่งรวมถึงหน่วยงานของโจทก์และไม่มีตำแหน่งว่างที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของโจทก์ในหน่วยงานที่เหลืออยู่ โดยมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวะการขาดทุนก็ตาม แต่ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม นั้น ข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีลูกจ้างฟ้องว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากการวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ซึ่งอาจไม่ใช่เหตุที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 ก็ได้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากประสบภาวะการขาดทุน ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงภายในองค์กรโดยมีการยุบหน่วยงานบางหน่วย รวมถึงหน่วยงานที่โจทก์ทำงานและให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2545 ในการเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 129,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 43,000 บาท เงินโบนัสตามอายุงานในปีที่เลิกจ้างจำนวน 37,625 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ใช้ตามสิทธิในปีที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 2,150 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 211,775 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยปรับปรุงหน่วยงานการบริการอันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเดิมจำเลยขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านทางตัวแทน ซึ่งเป็นแผนกที่โจทก์ทำงาน เมื่อจำเลยยกเลิกโดยขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านทางสถาบันการเงินเพื่อความสะดวกและลดรายจ่ายของจำเลย จำเลยจึงต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่จำเลยแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 86,000 บาท จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์เพียง 43,000 บาท จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์อีกจำนวน 43,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2545 เป็นเงินจำนวน 10,748 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 2,150 บาท จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์อีกจำนวน 8,598 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปีตามสัญญาว่าจ้างเป็นเงิน 64,000 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 37,625 บาท จำเลยต้องจ่ายเงินให้โจทก์อีกจำนวน 26,875 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 78,473 บาท และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 78,473 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นจำนวนถึง 90 วัน เป็นเงิน 129,000 บาท ทั้งที่โจทก์ ทำงานกับจำเลยยังไม่ถึง 1 ปี ซึ่งตามกฎหมายจำเลยมีสิทธิจ่ายเพียง 30 วันเท่านั้นนอกจากนี้จำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30 วัน เป็นเงิน 43,000 บาท เงินโบนัสตามอายุงานในปีที่เลิกจ้างเป็นเงิน 37,625 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในปีที่เลิกจ้างเป็นเงิน 2,150 บาท รวมเป็นเงิน 211,775 บาท แก่โจทก์ จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่จำเลยปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากกิจการของจำเลยประสบปัญหาธุรกิจขาดทุนอย่างมาก กลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าได้โอนกิจการไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่เข้ามาซื้อหุ้นและเข้าบริหารกิจการแทน จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนที่กำลังประสบอยู่โดยมีการยุบหน่วยงานส่วนใหญ่หลายหน่วยงานรวมถึงหน่วยงานที่โจทก์สังกัดอยู่ด้วยจำเลยยุบหน่วยงานตามโครงสร้างเดิมซึ่งมีอัตรากำลังลูกจ้างประมาณ 62 คน และตั้งหน่วยงานตามโครงสร้างใหม่ซึ่งมีอัตรากำลังลูกจ้างประมาณ 22 คน เพื่อให้รองรับและสอดคล้องกับแผนการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านสถาบันการเงินซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นนายหน้าประกันชีวิตจากกรมการประกันภัย จำเลยไม่มีการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้แต่อย่างใด จึงไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ตามมาตรา 121 จำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 30 วันเ เป็นเงินจำนวน 43,000 บาท ตามมาตรา 17 ถูกต้องแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการคำนวณวันหยุดพักผ่อนประจำปีเคลือบคลุม จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 2,150 บาท ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนเงินโบนัสประจำปีนั้น ในปี 2545 โจทก์ถูกเลิกจ้างวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 โจทก์ทำงานมาแล้วเพียง 7 เดือน 26 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามสัดส่วนเวลาการทำงานเป็นเงิน 37,625 บาท ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากกิจการของจำเลยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างมากและต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่จำเลยดำเนินกิจการ จนทำให้เงินกองทุนซึ่งต้องดำรงไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตลดน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากจึงมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุน แต่ผู้ถือหุ้นมีมติไม่ยอมเพิ่มทุนเป็นเหตุให้มีการโอนขายกิจการจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาบริหารกิจการแล้วได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุน มีการยุบหน่วยงานตามโครงสร้างเดิมและตั้งหน่วยงานตามโครงสร้างใหม่ จึงต้องลดจำนวนลูกจ้างตามโครงสร้างเดิมและเหลือลูกจ้างตามโครงสร้างใหม่ตามที่จำเลยให้การไว้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยไม่มีตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของโจทก์ในหน่วยงานที่เหลือตามโครงสร้างใหม่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะสาเหตุดังกล่าวพร้อมเลิกจ้างลูกจ้างของจำเลยเกือบทั้งหมดประมาณ 50 คน คงเหลือไว้ประมาณ 12 คน โดยมิได้เจาะจงจะเลิกจ้างโจทก์เพียงผู้เดียวแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ว่า จำเลยจะต้องจ่ายโบนัสคงที่ประจำปีให้แก่โจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยตกลงจ่ายโบนัสให้แก่โจทก์เป็น 2 ส่วน คือ โบนัสคงที่ประจำปีและโบนัสจากการปฏิบัติงาน โดยโบนัสคงที่ประจำปีจำเลยตกลงจะจ่ายเป็นจำนวนแน่นอนปีละ 1.5 เท่าของเงินเดือน ส่วนโบนัสจากการปฏิบัติงานจำเลยจะจ่ายโบนัสหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานของโจทก์และผลประกอบการโดยรวมของจำเลยด้วย เห็นว่า โบนัสคงที่ประจำปีเป็นโบนัสซึ่งจำเลยมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนที่แน่นอนปีละ 1.5 เท่าของเงินเดือน โดยจำเลยไม่มีสิทธิพิจารณาว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ และผลประกอบกิจการของจำเลยในปีนั้นๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่งโบนัสคงที่ประจำปีนี้จำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายไว้ตามคู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.18 ข้อ 1.7 ว่า “บริษัทจะจ่ายโบนัสประจำปีจำนวน 1.5 เท่าของเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานครบ 1 ปี (1 มกราคม – 31 ธันวาคม) โดยมีหลักเกณฑ์ว่า พนักงานนั้นยังคงมีสถานะเป็นพนักงาน ณ วันที่มีการจ่ายโบนัส สำหรับพนักงานที่ทำงานไม่ครบ 1 ปี บริษัทจะจ่ายให้ตามสัดส่วนเวลาการทำงาน โบนัสจะจ่ายโดยเข้าบัญชีเงินเดือนของพนักงานภายในเดือนมกราคม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2544 และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 เนื่องจากโจทก์ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของจำเลย ณ วันที่มีการจ่ายโบนัสประจำปี 2544 ฉะนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายโบนัสคงที่ประจำปี 2544 ให้แก่โจทก์ โดยคำนวณตามสัดส่วนเวลาทำงานหรือตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ส่วนโบนัสคงที่ประจำปี 2545 นั้น โจทก์ได้พ้นสภานะการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2545 ดังนั้น ณ วันที่มีการจ่ายโบนัสประจำปี 2545 ของจำเลย โจทก์ไม่มีสถานะเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายโบนัสประจำปี 2545 ให้แก่โจทก์ ที่จำเลยจ่ายโบนัสประจำปี 2545 ให้แก่โจทก์ตามสัดส่วนเวลาการทำงานนั้นเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 3.1 ของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่าจำเลยจะยกเหตุประสบภาวะการขาดทุนขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะระบุเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.2 ว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร มีการยุบหน่วยงานบางหน่วยซึ่งรวมถึงหน่วยงานของโจทก์และไม่มีตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของโจทก์ในหน่วยงานที่เหลืออยู่ โดยมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวการณ์ขาดทุนก็ตาม แต่ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม นั้น ข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีลูกจ้างฟ้องว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากการวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ใช่เหตุตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ก็ได้ ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากประสบภาวะการขาดทุนไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน