คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วเขียนคำว่า “สด” ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงินตามมาตรา 899 การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม มาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนตะนาว ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 จำนวนเงิน 40,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 41,639.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทมีข้อความตามแบบพิมพ์ว่า “จ่าย……………หรือผู้ถือ” แต่มีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกและเขียนคำว่า “สด” ลงในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วเขียนคำว่า “สด” ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ดังที่โจทก์ฎีกา ดังนี้การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share