คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีใดบ้างที่บุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาลต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ กรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนบริษัท อาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) ไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 1,000,000 บาท มีนายพรชัย สิงหเสมานนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ส่วนผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2525 บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด ได้เพิ่มทุนเป็น 5,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2539 และวันที่ 13 สิงหาคม 2529 บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด มีคำขอเลขที่ 4-01659 และเลขที่ 2-5348 เพิ่มทุนเป็น 500,000,000 บาท และ 1,000,000,000 บาท ตามลำดับ โดยการเพิ่มทุนทั้งสองครั้ง นายพรชัยแจ้งนายทะเบียนว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว อันเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว และได้มีการดำเนินคดีดังกล่าวแก่บริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด และนายพรชัยในข้อหาร่วมกันแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษบุคคลทั้งสองแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1210/2532 ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2540 นายพรชัยได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องทั้งสองเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ผลการประชุมที่ประชุมแต่งตั้งผู้ร้องทั้งสองร่วมกันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดปทุมธานี แต่นายทะเบียนอ้างว่า ศาลแขวงดุสิตไม่ได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทต้องปฏิบัติหรือดำเนินการตามคำพิพากษาอย่างใด ส่วนคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนใดๆ ที่กระทำลงไปได้ ผู้ร้องทั้งสองต้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนทั้งสองครั้งดังกล่าวเสียก่อน จึงจะรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการให้ได้ ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด เลขที่ 4-01659 และเลขที่ 2-5348 ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 และวันที่ 18 สิงหาคม 2529 ตามลำดับ
ผู้คัดค้านทั้งยี่สิบเจ็ดยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า การขอจดทะเบียนเพิ่มทุนทั้งสองครั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โดยมติพิเศษผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวผู้ร้องทั้งสองลงมติด้วย ถ้าผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเพิ่มทุน มิใช่ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเพียงฝ่ายเดียว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดไต่สวนพยานผู้ร้องทั้งสองแล้วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยวิธีการจัดการบริษัทจำกัด มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ร้องทั้งสองไว้ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจมาร้องต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทดังเช่นคดีนี้ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองมีอำนาจขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของบริษัทเสมาฟ้าครามนคร จำกัด และนายพรชัย สิงหเสมานนท์ ที่จดทะเบียนเพิ่มทุนทั้งสองครั้ง มิได้กระทำให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ผู้ร้องทั้งสองไม่สามารถเริ่มต้นคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทได้ จึงจำเป็นต้องยื่นเป็นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีนี้ เห็นว่า การเสนอคดีต่อศาลกระทำได้ 2 วิธี วิธีแรกหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง ก็เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 172 วิธีที่สอง หากบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล ก็เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) ส่วนกรณีใดบ้างที่บุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาลก็ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ กรณีของผู้ร้องทั้งสองไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นอาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) หาได้ไม่ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ศาลดำเนินการไต่สวน และมีคำสั่งตามคำร้องขอได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องทั้งสองอีกต่อไป ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเห็นควรสั่งไปพร้อมกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share