แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทระบุสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงความจริง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นที่น่าสงสัยทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยพยานมิได้อยู่ในขณะนั้น การทำพินัยกรรมจึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 จำเลยมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอันเป็นข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่และได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ ผู้ตายเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรมส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริง และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตามวันเดือนปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อแม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม และการลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้อง โจทก์มิได้ฟ้องผู้รับจำนองเข้ามาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เป็นการไม่ชอบ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แม้จำเลยจะโอนที่ดินเป็นของตนแล้วนำไปจำนองกับบุคคลภายนอกเป็นการโอนตามพินัยกรรมที่จำเลยเข้าใจว่าสมบูรณ์และไม่ปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการมรดกหรือมีเหตุอันจะให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิจัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ ผู้ตาย จำเลยเป็นสามีของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีพินัยกรรมของผู้ตาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 126407 และ 178892 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว และนำที่ดินโฉนดเลขที่ 178892 ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้สินของจำเลยแก่นายชวน เกตุสุวรรณ์ พินัยกรรมที่จำเลยอ้าง ผู้ตายไม่มีเจตนาที่จะกระทำ กล่าวคือจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นโดยไม่ลง วัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมแล้วนำไปให้ผู้ตายที่ป่วยหนักไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ลงชื่อโดยผู้ตายไม่ทราบว่าเป็นพินัยกรรม ทั้งผู้ตายมิได้ลงชื่อต่อหน้าพยาน และพยานมิได้ลงชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นโมฆะและเป็นการปลอมพินัยกรรม ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ของผู้ตายเป็นโมฆะมีคำสั่งว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกพร้อมทั้งส่งคืนบรรดาทรัพย์มรดกและเอกสารต่าง ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยกระทำเกี่ยวกับทรัพย์มรดกโดยมิชอบ
จำเลยให้การว่า ผู้ตายกระทำในขณะที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์มีพยานโดยถูกต้อง จำเลยจัดการมรดกไปตามสิทธิและหน้าที่รับผิดชอบตามข้อกำหนดพินัยกรรม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม2535 ของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ ผู้ตายเป็นโมฆะ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ผู้ตายให้ส่งคืนบรรดาทรัพย์มรดกและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าวและให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 126407 และ 178892 เป็นของจำเลย ตลอดจนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 178892 แก่นายชวน เกตุสุวรรณ์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมายจ.6 สมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ปัญหานี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงความจริง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นที่น่าสงสัยทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยพยานมิได้อยู่ในขณะนั้นการทำพินัยกรรมจึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แล้วพิพากษาว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นโมฆะจำเลยมิได้อุทธรณ์ ดังนั้นปัญหานี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอันเป็นข้อเท็จจริงนำไปสู้ข้อกฎหมายว่าพินัยกรรมโมฆะ แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า จำเลยถูกกำจัดมิได้รับมรดกเพราะฉ้อฉลให้ผู้ตายทำพินัยกรรมและจำเลยปลอมพินัยกรรมหรือไม่และศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งกรุงเทพ และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า ผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรมจำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องผู้รับจำนองเข้ามาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองจึงเป็นการสั่งที่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 เป็นการไม่ชอบ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ ผู้ตายนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แม้จำเลยจะโอนที่ดินเป็นของตนแล้ว นำไปจำนองกับบุคคลภายนอกก็เป็นการโอนตามพินัยกรรม ที่จำเลยเข้าใจว่าสมบูรณ์และไม่ปรากฏจากทางนำสืบว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการมรดกหรือมีเหตุอันจะให้เพิกถอนผู้จัดการมรดก เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยย่อมมีสิทธิจัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น