คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทสรุปได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินโดยราคาที่ขายได้ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาดถึง30เปอร์เซ็นต์เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมดังนั้นคำร้องของจำเลยทั้งสามเท่ากับอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา513คือไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามให้ได้ราคาสูงสุดนั่นเองซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา308วรรคหนึ่งและหากได้ความว่าประเมินราคาทรัพย์ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดมากโดยไม่ตรวจสอบราคาอันถูกต้องแท้จริงเสียก่อนย่อมส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัวเป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสองโดยที่จำเลยทั้งสามไม่ต้องระบุบทกฎหมายดังกล่าวมาในคำร้องด้วยศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องให้สิ้นกระแสความไม่ควรด่วนสั่งงดการไต่สวนเสียเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินยืมพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 6,034,852.17 บาท และบังคับจำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสาม ต่อมาคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินได้ 5 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 6001, 11224 และ 11225 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1ที่ดินโฉนดเลขที่ 19679 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2ที่ดินโฉนดเลขที่ 552 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน จำเลยที่ 2 ไม่ทราบวันนัดขายทอดตลาด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดและขายทอดตลาดใหม่ ในวันที่ 3 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเช่นกัน อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน หลังจากนั้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2536 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้อีก 3 แปลงคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 4518,10727 และ 10728 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าวอีก
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานจำเลยได้ 1 ปาก แล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดไต่สวนพยานจำเลยและพยานโจทก์และได้มีคำสั่งลงวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 19679 และ 552 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3ตามลำดับซึ่งเป็นการขายรวมกัน เนื่องจากปรากฎว่าจำเลยที่ 2ไม่ทราบวันนัดขายทอดตลาด ส่วนที่ดินแปลงอื่นนอกจากนี้จำเลยที่ 1ที่ 2 ยื่นคำร้องโดยมิได้อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองแต่อย่างใด ไม่จำต้องไต่สวน แล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1และที่ 2
ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 19679 และ 552 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 ตามลำดับซึ่งเป็นการขายทอดตลาดใหม่ตามคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 2 ที่ 3ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าวอีก อ้างว่าขายต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แต่อย่างใดให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 5 ตุลาคม 2536 และจำเลยที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 ธันวาคม 2536
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า คำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดโดยสรุปว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสามรวม 8 โฉนด พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดินเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหาย โดยคำร้องของจำเลยที่ 1ยังมีข้อความว่าราคาที่ขายได้ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาดถึง30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อบังคับที่กำหนดไว้ว่าด้วยการขายทอดตลาด ส่วนคำร้องของจำเลยที่ 2 มีข้อความอีกว่าสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดินกำหนดราคาประเมินตรงจุดที่ดินของจำเลยที่ 2 ตารางวาละ 20,000 บาท คิดเป็นเงิน4,486,000 บาท สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายถึง 1,486,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีกับผู้ประมูลได้ใช้กลฉ้อฉลไม่ชอบมาพากลไม่สุจริตขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับที่กำหนดไว้ในเรื่องการขายทอดตลาดและคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3เกี่ยวกับการขายที่ดินอีก 2 แปลง ก็ระบุว่า สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 80,000 บาท ยังไม่รวมราคาสิ่งปลูกสร้างตึกแถวห้าชั้นสองห้องรวมแล้วสูงกว่าราคาที่ขายทอดตลาดถึง 2,132,000 บาท เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรม ดังนั้น คำร้องของจำเลยทั้งสามเท่ากับยื่นคำร้องอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 คือไม่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามให้ได้ราคาสูงสุดนั่นเอง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินตามบทกฎหมายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 วรรคหนึ่งและหากข้อเท็จจริงได้ความว่า ประเมินราคาทรัพย์ของจำเลยทั้งสามต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดมาก โดยไม่ตรวจสอบราคาอันถูกต้องแท้จริงเสียก่อน ย่อมส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัวเป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง โดยที่จำเลยทั้งสามไม่ต้องระบุบทกฎหมายดังกล่าวมาในคำร้องด้วยศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องให้สิ้นกระแสความ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1กับมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ทำการไต่สวนเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสาม แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share