คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีเดิม โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกว่าผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินขอให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดิมเช่นนี้ โจทก์สามารถขอให้บังคับดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองในคดีเดิม ได้อยู่แล้ว ทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคดีนี้ก็อาศัยเหตุเดียวกันกับคดีก่อนว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148. ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จำเลยก็อ้างอิงปัญหาเช่นว่านั้นในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่โอนที่ดินส่วนของตนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ 160040 เฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนตามโฉนดที่ 160040 แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2505 จำเลยทั้งสองกับพวกมีนายแพ่ง ศรีสุวรรณ และนางสังวาลย์ หนูนารี ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดที่ 2099 แขวงสวนหลวงเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ในราคา700,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อโจทก์วางเงินมัดจำ 100,000 บาทแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวไม่จัดการแบ่งแยกที่ดินที่จะขายซึ่งยังเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับนายเวียน หรือสังเวียน ศรีสุวรรณ และนายกวี ศรีสุวรรณ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 1410 ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยให้จัดการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมของที่ดินแปลงดังกล่าว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 5452/2510 ของศาลแพ่ง เมื่อศาลฎีกาพิพากษาในคดีนั้นให้จำเลยทั้งสองกับพวกไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของตนตามโฉนดที่ 2099 ออกจากส่วนของนายเวียนหรือสังเวียนและนายกวีแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกคงมีตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 5452/2510 หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อโจทก์วางเงินมัดจำ 100,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2506 แล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในนามเดิม และโจทก์จะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยกับพวก 300,000 บาท ภายใน 90 วัน ซึ่งตกประมาณวันที่ 21 พฤษภาคม 2506 ต่อจากนั้นอีก 6 เดือนคือภายในวันที่ 21พฤศจิกายน 2506 โจทก์จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 300,000 บาทให้จำเลยทั้งสองกับพวก ดังนั้น สิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองกับพวกให้ปฏิบัติตามสัญญาโดยครบถ้วน ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่22 พฤศจิกายน 2506 เป็นต้นไป แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2510 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 5452/2510 ของศาลแพ่ง โจทก์เพียงฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองกับพวกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในนามเดิมเท่านั้น หาได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองกับพวกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ด้วยไม่ เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดิมซึ่งโจทก์สามารถฟ้องขอให้บังคับดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองในคดีเดิมได้อยู่แล้ว ทั้งประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคดีนี้ก็อาศัยเหตุเดียวกันกับคดีก่อนที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่นั่นเอง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเรื่องฟ้องซ้ำนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ย่อมอ้างอิงในปัญหาเช่นว่านั้นในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ที่โจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อโจทก์ชำระเงินมัดจำ 100,000 บาทแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องจัดการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในนามเดิมแต่จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่ปฏิบัติ จึงไม่ถึงเวลาที่โจทก์จะต้องเสนอชำระราคาที่ดินที่เหลือและบังคับให้โอนที่ดินมาเป็นของโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ได้ ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“4. ผู้ซื้อจะนำเงินมาวางมัดจำภายใน 90 วัน ภายในวันที่ 20กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ในการที่ผู้ขายได้รับโฉนดไว้นี้ ถือเป็นมัดจำและผู้ขายยอมแบ่งแยกในนามของผู้ขายเมื่อได้รับเงินสดแทนโฉนดแล้วผู้ซื้อยอมออกเงินค่าธรรมเนียมในการแบ่งแยก ต่อจาก 90 วันนี้ผู้ซื้อจะนำเงินมาวางเป็นงวดที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท ภายใน90 วันต่อไปจาก 90 วันก่อน
5. ……………….
6. ต่อจากงวดที่ 2 แล้ว ผู้ซื้อจะนำเงินราคาที่ดินทั้งหมดมาวางแก่ผู้ขายภายใน 6 เดือนจนครบจำนวนเงินที่ซื้อขาย” คำว่า 90วันก่อนย่อมหมายถึง ระยะเวลาที่จะต้องวางเงินมัดจำภายใน 90 วันหรือภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2506 ที่ระบุไว้ในตอนแรก และข้อความที่ว่าต่อจาก 90 วันนี้ ผู้ซื้อจะนำเงินมาวางเป็นงวดที่ 2เป็นเงิน 300,000 บาท ภายใน 90 วัน ย่อมหมายถึงว่า เมื่อครบกำหนดวางเงินมัดจำดังกล่าวแล้วต่อไปอีก 90 วัน ผู้ซื้อจะต้องนำเงินงวดที่ 2 มาวาง หาใช่จะต้องรอให้ผู้ขายแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในนามเดิมเสียก่อนจึงจะนำเงินงวดที่ 2 มาวางดังที่โจทก์เข้าใจไม่เมื่อฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share