คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มีผลใช้บังคับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวต้องบังคับตามอายุความของ ป.พ.พ. ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม การพิจารณาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จึงต้องบังคับตามหลักเกณฑ์ของ ป.พ.พ. มิใช่หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้แคชเชียร์เช็คของโจทก์สูญหายและโจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ปฏิบัติงานเป็นพนักงานเงินฝาก หน่วยเงินฝาก ส่วนการเงิน มีหน้าที่จัดทำแคชเชียรเช็คเพื่อเสนอหัวหน้าหน่วยจ่ายแคชเชียร์เช็ค ลงบันทึกรับ-จ่ายแคชเชียร์เช็คและเก็บรักษาแคชเชียร์เช็คเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 จำเลยได้จัดทำแคชเชียร์เช็คและนำแคชเชียร์เช็คของโจทก์สั่งจ่ายตามคำสั่งนายโสภณ เหมือนสมัยใส่ไว้ในตะกร้าบนโต๊ะทำงานของจำเลยโดยไม่มีผู้ควบคุมดูแล เป็นเหตุให้มีผู้ลักเอาแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไป แล้วนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาวงเวียนใหญ่ แอบอ้างชื่อนายโสภณเปิดบัญชีไว้ ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวตามที่ธนาคารออมสินเรียกเก็บเงิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 906,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 518,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 ที่จำเลยอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่า เหตุที่แคชเชียร์เช็คของโจทก์ฉบับเลขที่ 0101713 สูญหายมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางฝ่าฝืนจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นในเรื่องนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดทำแคชเชียร์เช็ค โดยเป็นผู้พิมพ์กรอกข้อความในแคชเชียร์เช็คแล้วเสนอผู้มีอำนาจลงนามและเก็บรักษาแคชเชียร์เช็คใส่ไว้ในแฟ้มนำไปเก็บไว้ในตู้นิรภัยหลังเลิกงาน เมื่อถึงเวลาทำการจำเลยก็นำแฟ้มที่ใส่แคชเชียร์เช็คออกจากตู้นิรภัยมาวางไว้บนโต๊ะเพื่อให้พนักงานนิติกรรมรับแคชเชียร์เช็คไปดำเนินการ นอกจากจำเลยจะมีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาแคชเชียร์เช็คแล้วจำเลยยังมีหน้าที่ดูแลการจ่ายแคชเชียร์เช็คให้แก่พนักงานนิติกรรมด้วย การที่จำเลยไม่จัดให้พนักงานนิติกรรมลงชื่อรับแคชเชียร์เช็คไว้ในสมุดทะเบียนให้พนักงานนิติกรรมแต่ละคนมาเลือกเอาแคชเชียร์เช็คไปเอง โดยจำเลยไม่ควบคุมดูแลเพราะไว้ใจกันตามที่เคยปฏิบัติมา เมื่อแคชเชียร์เช็คสูญหายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยนั้นเป็นการอุทธรณ์เพื่อให้ฟังว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และที่จำเลยอ้างว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยฝ่าฝืนพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็เป็นการอุทธรณ์บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยอ้าง ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.3 ที่ว่าจำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวพันต่อเนื่องจากอุทธรณ์ข้อ 2.2 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวข้างต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 เพียงประการเดียวว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิด จึงต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 13 ธันวาคม 2532 ฉะนั้นมูลละเมิดในคดีนี้จึงเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะมีผลใช้บังคับ สิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวได้เกิดขึ้น แล้วนับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2532 อันเป็นวันเกิดเหตุละเมิดเป็นต้นไป อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงต้องบังคับตามอายุความของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม การพิจารณาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่จึงต้องบังคับตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่พิจารณาหลักเกณฑ์ในเรื่องอายุความตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ตามที่จำเลยอ้าง และเนื่องจากคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้แคชเชียร์เช็คของโจทก์สูญหายและโจทก์ได้รับความเสียหายนั้น นอกจากจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share