คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความ ภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ซึ่งมีอายุความ 10 ปี โดยขณะที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นยังไม่ขาดอายุความจึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่มีการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และ 193/15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขายสินค้าต่างจังหวัด มีหน้าที่นำสินค้าไปขายและเก็บเงินค่าสินค้า มีจำเลยที่ 1 ค้ำประกันการทำงานในวงเงิน 150,000 บาท และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ลาออก โจทก์ตรวจสอบบัญชีพบว่าระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกค้าหลายรายแต่ไม่นำส่งให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,630,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงิน 1,630,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน 150,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้มีการแก้ไขสัญญาค้ำประกันหลายรายการจึงเป็นเอกสารปลอม นอกจากนี้การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มกราคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเฉพาะเงินต้นเท่านั้นเพียง 150,000 บาท คำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เมื่อคำนึงถึงมูลหนี้อันเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 คือการที่จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายสินค้าเก็บเงินค่าสินค้าแล้วไม่ส่งคืนให้แก่โจทก์เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้บททั่วไปคืออายุความ 10 ปี มิใช่ 2 ปี หนังสือรับสภาพหนี้ตามมูลหนี้ดังกล่าวจึงต้องใช้อายุความเดียวกัน ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ความว่า สิทธิเรียกร้องที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาบังคับแก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นสิทธิเรียกร้องที่มาจากหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ โจทก์มิได้ฟ้องหรือใช้สิทธิเรียกร้องจากจำนวนเงินในบิลสินค้าที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 รับเงินค่าสินค้าแต่ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเกิดจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีอายุความเพียง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 นั้น เห็นว่า มาตรา 193/35 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสองให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน ดังนี้สิทธิเรียกร้องตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ดังกล่าว ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้วต่อมาหนี้ขาดอายุความภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าหนี้ตามฟ้องในคดีนี้เป็นหนี้ซึ่งมีอายุความ 10 ปี โดยขณะที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นยังไม่ขาดอายุความ กรณีจึงไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่มีการรับสภาพหนี้ตามนัยแห่งมาตรา 193/14 และ 193/15 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share