คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4356/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากยังไม่ได้มีการจัดการมรดกของลูกหนี้แล้วเจ้าหนี้จะมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกได้แม้พ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้กู้จึงมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นมาต่อสู้ได้ แม้ยังมิได้มีการจัดการมรดก
ความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตอนแรกที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 นั้นหมายถึงความในมาตรา 1754วรรคสาม ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในมาตรา 193/27 ซึ่งใช้สิทธิเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้ได้แม้หนี้นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม มิใช่ว่าความในมาตรา 1754 วรรคสามบังคับใช้เฉพาะเจ้าหนี้มีประกัน ไม่ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ
การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเจ้ามรดกแม้จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มิได้ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ร่วมเต็มตัวอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 แต่เป็นการยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 ซึ่งคงเสียสิทธิเพียงไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 688,689 และ 690 ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิตามมาตรา 694 ที่จะยกข้อต่อสู้ทั้งหลาย ซึ่งเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นทายาทของของเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้
ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า ผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ตามสัญญา ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนให้ทั้งสิ้น เพียงแต่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดแม้ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับไปแล้วหรือผู้กู้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดรวมไปถึงเรื่องการสละสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้เมื่อผู้กู้ถึงแก่กรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 นายสมหมาย ยิ้มย่อง กู้เงินจำนวน250,000 บาท ไปจากนายดิเรก ปราบใหญ่ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และนายสมหมายได้รับต้นเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากที่นายสมหมายกู้ยืมเงินไปแล้ว ไม่เคยนำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระแก่นายดิเรกต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 (ที่ถูกวันที่ 21 เมษายน 2540) นายสมหมายถึงแก่กรรมนายดิเรกเคยติดต่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมหมาและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยจนกระทั่งนายดิเรกถึงแก่กรรมโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายดิเรกได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 206,250 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น456,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 456,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายสมหมายกู้ยืมเงินนายดิเรกเพียง 200,000 บาทเท่านั้น แต่นายดิเรกอ้างว่าหากนายสมหมายไม่ยอมชำระหนี้จะเป็นเหตุให้นายดิเรกต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี จึงให้เพิ่มจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมและค้ำประกันอีก50,000 บาท จึงทำสัญญากู้ยืมในวงเงิน 250,000 บาท หลังจากที่นายสมหมาย หมายถึงแก่กรรม นายดิเรกได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสองแจ้งให้นายดิเรกทราบว่า ไม่มีเงินชำระหนี้ให้ สัญญากู้ยืมและค้ำประกันเป็นอันเลิกกันตั้งแต่นายดิเรกทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว นายสมหมายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 (ที่ถูกวันที่ 21 เมษายน 2540) นายดิเรกรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายสมหมายเกินกว่า1 ปี ตั้งแต่ก่อนที่นายดิเรกจะถึงแก่กรรมการที่นายดิเรกไม่ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนายสมหมาย คดีจึงขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายดิเรกนำคดีที่ขาดอายุความมาฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16มีนาคม 2536 นายสมหมาย ยิ้มย่อง กู้ยืมเงินจำนวน 250,000 บาท จากนายดิเรกปราบใหญ่ ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ในวันที่ 21 เมษายน 2540 นายสมหมายถึงแก่กรรมตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 นายดิเรกถึงแก่กรรม โจทก์ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายดิเรกตามสำเนาคำสั่งศาลจังหวัดนนทบุรี เอกสารหมาย จ.1 จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของนายสมหมายและจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เงินกู้ ดังกล่าว แต่ยังมิได้รับชำระหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ขึ้นมาต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ และคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นมาต่อสู้โจทก์มิได้ เพราะยังมิได้มีการจัดการมรดกของนายสมหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันระบุความผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไว้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบชำระหนี้แทนผู้กู้ให้แก่ผู้ให้กู้ทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 จึงจะยกอายุความดังกล่าวขึ้นมาต่อสู้โจทก์ไม่ได้เช่นเดียวกัน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากยังไม่ได้มีการจัดการมรดกของลูกหนี้แล้วเจ้าหนี้จะมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกได้แม้พ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสมหมายเจ้ามรดกผู้กู้จึงมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นมาต่อสู้โจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่ามาตรา 1754 วรรคสาม ใช้บังคับเจ้าหนี้มีประกันไม่ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญนั้นเห็นว่าความในมาตรา 1754 วรรคสาม ตอนแรกที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 นั้นหมายถึงความในมาตรา 1754 วรรคสาม ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในมาตรา 193/27 ซึ่งให้สิทธิเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้ได้แม้หนี้นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม หาใช่ว่าความในมาตรา 1754 วรรคสาม บังคับใช้เฉพาะเจ้าหนี้มีประกัน ไม่ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันนายสมหมายเจ้ามรดกแม้จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม ก็มิได้ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ร่วมเต็มตัวอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 แต่เป็นการยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 ซึ่งคงเสียสิทธิเพียงไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 688, 689 และ 690 ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ นอกนั้นมิได้เสียสิทธิของผู้ค้ำประกันตามบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันแต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงย่อมมีสิทธิตามมาตรา 694 ที่จะยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งนายสมหมายเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นทายาทของนายสมหมายผู้เป็นลูกหนี้ก็ตาม และที่โจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้งว่า ถ้าผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ตามสัญญา หรือผู้กู้ถึงแก่กรรม หรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนให้ทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเพียงแต่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด แม้ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับไปแล้วหรือผู้กู้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดรวมไปถึงเรื่องการสละสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสมหมายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 เมษายน2540 นายดิเรกผู้เป็นเจ้าหนี้ก็รู้ถึงความตายของนายสมหมาย แต่ไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องจนกระทั่งถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายดิเรกนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่28 กันยายน 2541 อันพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อนายดิเรกได้รู้ถึงความตายของนายสมหมายแล้วเช่นนี้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share