แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินและไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ อยู่ที่ตำบลละเอาะ กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลละเอาะ กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นสมาชิกสภาตำบลละเอาะ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่จัดการปกครองดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตท้องที่ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11ตำบลละเอาะ กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นสมาชิกสภาตำบลละเอาะ เมื่อปลายปี 2523 จำเลยที่ 1 จดแจ้งลงในทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ว่าที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 88 ไร่ ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และเพาะพันธุ์ปลา โจทก์กับพวกที่มีที่ดินอยู่บริเวณข้างเคียงได้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 3ยืนยันว่าที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู และนำรังวัดให้เจ้าพนักงานที่ดินปักหลักเสาปูนโจทก์กับพวกโต้แย้งคัดค้านและเกิดการวิวาททำร้ายร่างกายกัน จำเลยที่ 1ที่ 3 และเจ้าพนักงานที่ดินจึงกลับไป เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2535โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรารมย์ กำหนดวันนัดให้โจทก์นำเจ้าหน้าที่ไปรังวัดที่ดินและแจ้งให้จำเลยที่ 2 ไประวังแนวเขต เมื่อถึงวันนัดรังวัดจำเลยที่ 2ไม่ไประวังแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ได้ โจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่หนองสาธารณประโยชน์ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและเพิกถอนเอกสารทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูในส่วนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนไว้
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นของตนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์ในเขตท้องที่และแจ้งให้นายอำเภอทราบตามแบบที่กำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ประชาชนใช้ร่วมกันมานานกว่า 100 ปี และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินเพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมากว่า 100 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โจทก์จึงนำ ส.ค.1 ไปขอออกโฉนดที่ดินไม่ได้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่บิดาภริยาโจทก์ยกให้เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลละเอาะ กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง (เดิมอำเภอกันทรารมย์) จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2498 โจทก์แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตามเอกสารหมาย จ.1 ปี 2520 โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ราษฎรใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และเพาะพันธุ์ปลา เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่รังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปี 2523 จำเลยที่ 1 ทำหลักฐานแจ้งต่อทางราชการว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูตามเอกสารหมาย จ.2โจทก์กับพวกคัดค้าน นายอำเภอแห่งท้องที่จึงให้โจทก์กับพวกครอบครองที่ดินพิพาทต่อไป ปี 2535 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1และที่ 3 คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหลักฐานที่จำเลยที่ 1 แจ้งต่อทางราชการในปี 2523 เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูหรือไม่ในปัญหาดังกล่าวโจทก์เบิกความว่า ในปี 2520 ที่โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อทางราชการ จำเลยที่ 1 แจ้งต่อทางราชการว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู โจทก์ได้ร้องเรียนต่อทางราชการว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และทางราชการได้ดำเนินการสอบสวนบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 เมื่อตรวจสอบบันทึกดังกล่าวแล้วปรากฏว่ามีนายชาลี นามวิชา กำนันตำบลละเอาะ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่และมีอายุ 53 ปีในขณะนั้นให้ถ้อยคำว่าก่อนที่บิดาภริยาโจทก์จะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ต่อ ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่าละเมาะทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทมีหนองน้ำชื่อหนองคู สภาพของหนองมีคูคันดินล้อมรอบ น้ำไม่ขังตลอดปี ฤดูฝนน้ำท่วมพื้นที่ภายในบริเวณคันดินมีปลาและสัตว์น้ำชุกชุม ราษฎรบ้านขี้เหล็ก บ้านละเอาะ บ้านยางน้อยบ้านบอน และบ้านเชือกใช้เป็นที่จับสัตว์น้ำและได้ใช้น้ำจากหนองคูเป็นประจำ โดยมีนายสงบ สิทธิศักดิ์ นายแคล้ว ธงชัย นายลา จันมนตรีและจำเลยที่ 1 ราษฎรในท้องถิ่นให้ถ้อยคำบันทึกยืนยันสนับสนุนต่อมาทางราชการได้เรียกโจทก์ไปให้ถ้อยคำและบันทึกไว้ว่า โจทก์รับทราบถึงสาเหตุที่ทางราชการไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ให้โจทก์แล้วว่าเพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่โจทก์รับรองว่าที่ดินพิพาทไม่อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์และโจทก์จะเข้าทำประโยชน์คือทำนาในที่ดินพิพาทอย่างเดิม โดยโจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.5 ถึงนายอำเภอกันทรารมย์ขอบคุณที่ได้อธิบาย แนะนำชี้แจงให้โจทก์กับพวกเข้าใจเหตุผล ดังนี้แสดงว่าโจทก์ทราบตั้งแต่ปี 2520 แล้วว่าที่ดินพิพาทถูกโต้แย้งว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู และทางราชการผ่อนผันให้โจทก์เข้าทำนาในที่ดินพิพาทได้เพราะเคยทำอยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อคัดค้านว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู คงกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ว่าที่ดินพิพาทไม่อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์เท่านั้นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอันเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ปกครองดูแลและระวังรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและแผ่นดินได้แจ้งต่อทางราชการขึ้นทะเบียนที่ดินสำหรับสาธารณประโยชน์หนองคู โดยรวมที่ดินพิพาทเข้าไว้ด้วยในปี 2523ตามเอกสารหมาย จ.2 จึง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จำเลยทั้งสามนำสืบต่อไปว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีคันดินล้อมรอบและมีหนองน้ำชื่อหนองคูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกติดแนวเขตด้านทิศใต้ เนื้อที่ประมาณ 88 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ดินดังกล่าวราษฎรหลายหมู่บ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และในฤดูฝนใช้เป็นที่จับปลามานานก่อนที่บิดาภริยาโจทก์โจทก์และราษฎรอีกหลายคนเข้าทำนา ทำให้สภาพของหนองน้ำตื้นเขินขึ้นนายทิวา ศุภจรรยา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านโบราณคดีและเป็นคนกลางเบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบแผนที่ระวางภาพถ่ายทางอากาศพบว่าที่ดินพิพาทเป็นพื้นที่แหล่งน้ำมีคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันมีลักษณะเป็นแหล่งน้ำโบราณตามแผนที่ระวางภาพถ่ายทางอากาศเอกสารหมาย ล.8 และ ป.จ. 2 ถึง ป.จ.5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำโครงการวิจัยชุมชนโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศในเขตจังหวัดศรีสะเกษและจัดพิมพ์เอกสารการวิจัยในปี 2525 ตามเอกสารหมาย ป.จ.6ระบุว่าบริเวณพื้นที่ในแนวเขตสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามภาพถ่ายทางอากาศบ้านขี้เหล็กตำบลละเอาะ กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ ในเอกสารการวิจัยดังกล่าวเป็นแหล่งชุมชนโบราณ และตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายจ.3 และ ล.3 ก็ปรากฏว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ภายในบริเวณแนวเขตที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงตามเอกสารหมาย ป.จ.6 และมีหนองน้ำชื่อหนองคูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกติดแนวเขตทิศใต้ของรูปที่ดินสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกัน และได้ความจากทางนำสืบของจำเลยต่อไปว่า เคยมีการพบหลักฐานเป็นเครื่องถ้วยชามโบราณแตกหักบริเวณใกล้เคียงกับหนองคู ซึ่งโจทก์และพยานโจทก์เบิกความยอมรับว่า มีหนองน้ำตั้งอยู่บริเวณดังกล่าวจริงแต่สภาพของหนองน้ำปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะมีการขุดคลองอีสานเขียวผ่านบริเวณหนองน้ำ คงเหลือบริเวณที่เป็นหนองน้ำเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 งาน หนองน้ำอยู่ห่างจากที่ดินพิพาทไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 เส้น บริเวณที่ดินพิพาทและหนองน้ำมีคันดินล้อมรอบน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตบริเวณที่มีคันดินล้อมรอบอันมีลักษณะเป็นแหล่งน้ำโบราณจริง ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าที่ดินบริเวณหนองน้ำภายในแนวเขตคันดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่มีมาแต่เดิมเรียกว่าหนองคู และมีน้ำท่วมในฤดูฝน ราษฎรใช้เป็นที่จับปลาและน้ำแห้งในฤดูแล้งราษฎรใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และใช้น้ำก่อนที่บิดาภริยาโจทก์จะเข้าทำประโยชน์ จึงมีเหตุผลและมีน้ำหนักที่จะรับฟังมากกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เบิกความขัดแย้งกันเองในเรื่องคันดินที่ล้อมรอบบริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ตั้งหนองคู โดยพยานโจทก์บางปากเบิกความว่าไม่เคยเห็นมีคันดินดังที่จำเลยเบิกความมาก่อน และไม่เคยรู้ว่ามีหนองคูอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย คำเบิกความของพยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่โจทก์ฎีกาว่าทางราชการไม่เคยมีหลักฐานแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์มีหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตั้งแต่ปี 2498 ราษฎรที่มีที่ดินอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททางราชการออกโฉนดที่ดินให้แล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งขอขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินร่วมด้วย ที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูมีเนื้อที่ไม่ถึง 88 ไร่ ดังที่จำเลยที่ 1อ้าง นายทิวาไม่ได้ออกไปตรวจสอบที่ดินพิพาทด้วยตนเอง คำเบิกความของนายทิวาจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวทรัพย์นั้นว่าราษฎรได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ทางราชการจะไม่ได้ทำหลักฐานหรือขึ้นทะเบียนไว้ ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาและไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินแม้โจทก์จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททางราชการออกโฉนดที่ดินให้แล้ว ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่โจทก์มิได้โต้แย้งว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่นอกแนวเขตคันดินที่เป็นแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคู ทางราชการจึงสามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ต่างกับที่ดินพิพาทที่ตั้งอยู่ภายในแนวเขตคันดินที่ล้อมรอบอยู่ แนวเขตคันดินดังกล่าวปรากฏเห็นชัดเจนสามารถคำนวณพื้นที่ดินที่อยู่ภายในได้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูโดยระบุว่ามีเนื้อที่ 88 ไร่ โดยไม่ได้มีเจ้าพนักงานที่ดินร่วมดำเนินการด้วยจึงไม่เป็นข้อพิรุธดังที่โจทก์อ้าง และที่โจทก์อ้างว่านายทิวาไม่ได้ออกไปตรวจสอบพื้นที่จริง คำเบิกความของนายทิวาจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่านายทิวาเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านโบราณคดีถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ เบิกความประกอบรายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดทำขึ้นในทางการศึกษาวิจัยลักษณะของชุมชนโบราณที่มีอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศซึ่งจากเอกสารการวิจัยที่จำเลยอ้างส่งเป็นพยานดังกล่าวได้ระบุแหล่งชุมชนโบราณในเขตจังหวัดศรีสะเกษไว้หลายแห่งรวมทั้งบริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์หนองคูด้วย และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายบริเวณสถานที่ที่ระบุว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณในเอกสารการวิจัยดังกล่าวเปรียบเทียบกันจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงเป็นอย่างเดียวกัน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญแม้นายทิวาจะไม่ได้ออกไปตรวจดูสถานที่พิพาทโดยดูจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวก็สามารถที่จะชี้ยืนยันตามหลักวิชาการได้ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏคำเบิกความของนายทิวาจึงมีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน