แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้องว่า ไปทำสัญญาต่ออำเภอขายฝากนาให้จำเลย ขอให้จำเลยรับเงินและคืนนาให้โจทก์ แล้วโจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นว่า ไม่ได้ทำสัญญาขายฝาก ความจริงได้ทำสัญญากู้เงินจำเลย มอบที่นาให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันต่างดอกเบี้ย ดังนี้ ถือว่าคำขอแก้ฟ้องกับคำฟ้องเดิม มีความเกี่ยวข้องกัน ให้แก้ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ โจทก์เอาที่นาไปทำสัญญาต่ออำเภอขายฝากไว้แก่จำเลยเป็นเงิน ๑๒๐๐ บาท จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ ขอให้บังคับจำเลยรับเงินและคืนนาให้โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยขายฝากไว้แก่จำเลย เป็นแต่โจทก์ไปทำสัญญาที่อำเภอกู้เงินจำเลยไป ๑๑๐๐ บาท มอบที่นาให้จำเลยทำต่างดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์ขอขายนาแก่จำเลย ๑๒๐๐ โดยรับเงินไปอีก ๑๐๐ บาท โจทก์รับสำเนาคำให้การแล้ว รุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ไม่ได้ทำสัญญาขายฝากความจริงได้ทำสัญญากู้เงินจำเลย ๑๑๐๐ บาท มอบที่นาให้จำเลยยึดไว้เป็นประกันทำต่างดอกเบี้ย ตามสำเนาสัญญากู้ท้ายคำให้การจำเลย ๆ คัดค้าน
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ และไม่เชื่อว่า โจทก์ขายนาให้จำเลย พิพากษาให้จำเลยรับเงินและคืนนาให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยฉะเพาะปัญหาข้อกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง การที่โจทก์ขอแก้ฟ้องนั้น เห็นว่า คำขอแก้ฟ้องกับคำฟ้องเดิมมีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องโจทก์เอาเงินจำเลยมา มอบนาให้จำเลยทำต่างดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องการเรียกที่ดินคืน โดยขอให้จำเลยชำระเงินนั่นเอง ตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๗๙(๓) และมาตรา ๑๘๐(๑) ให้ร้องขอแก้ฟ้องได้ ทั้งโจทก์ได้ร้องขอแก้ฟ้องก่อนวันชี้สองสถานด้วย
พิพากษายืน.