คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้แทนของกองทุน และมีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด เมื่อมีข้อบังคับของกองทุนโจทก์ว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุนที่กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทนตนได้แล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ จึงชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง
ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัยอีกและไม่มีกรณีต้องรับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ทุกประเภทรวมเป็นเงิน 4,576,615,362.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,026,427,570.57 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,576,615,362.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,026,427,570.57 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันฟ้อง (ที่ถูก เป็นวันผิดนัด) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
ระหว่างกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้แทนของกองทุนและมีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด และตามข้อบังคับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุน พ.ศ.2543 ผู้จัดการกองทุนจะมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการอาวุโส หรือผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารอาวุโส หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารทีม มอบให้ทนายความดำเนินคดีโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ได้ แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการกองทุนมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดฟ้องคดีแทนตนได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสาทรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส หรือผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารอาวุโส หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารทีม ตามข้อบังคับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่าด้วยการรักษาการแทนและการมอบอำนาจของผู้จัดการกองทุน พ.ศ.2543 นั้น จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่นางสว่างจิตต์ ผู้จัดการกองทุนโจทก์ทำคำสั่งมอบอำนาจให้นายสาทรเป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆียะหรือไม่ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จึงเป็นข้อที่คาดเห็นว่าอาจจะเกิดขึ้นได้และผู้ค้ำประกันยังคงเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้ การที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะเหตุใดไม่ใช่ข้อที่ผู้ค้ำประกันจะนำมาอ้างเพื่อไม่ชำระหนี้แทนลูกหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่หากผู้ค้ำประกันอ้างได้ว่าถ้ารู้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะไม่เข้าทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันย่อมไม่อาจมีขึ้นได้ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของลักษณะสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจึงไม่อาจอ้างว่าหากผู้ค้ำประกันรู้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ผู้ค้ำประกันก็จะไม่เข้าทำสัญญาค้ำประกัน การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะตามที่จำเลยฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือคำสั่ง สกท. ที่ 8/2547 เรื่อง มอบหมายหน้าที่ให้นายวิชาญ หรือนายสาทร หรือนายโอภาส ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงเป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ และจำเลยมิได้รับข้อเท็จจริงว่านางสว่างจิตต์ ผู้จัดการกองทุนโจทก์ทำคำสั่งดังกล่าว เพราะจำเลยให้การว่าคำฟ้องส่วนใดที่จำเลยมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธทั้งสิ้น เห็นว่า ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่านางสว่างจิตต์ไม่ได้ทำคำสั่งดังกล่าวเท่ากับจำเลยยอมรับ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่จำต้องรับฟังตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอีก และไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัย ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ยืมของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด แต่เป็นเครื่องมือของธนาคารแห่งประเทศไทยในการฟื้นฟูสถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด เป็นสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกจ่ายเงินสมทบ จึงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ การช่วยเหลือยังไม่สามารถทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด มั่นคงมีเสถียรภาพโจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินที่ให้ความช่วยเหลือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด ยังไม่ผิดนัด จำเลยจึงไม่ผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยเข้าใจว่าสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงการเร่งรัดให้จำเลยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด หาหลักประกันมาวางต่อโจทก์ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันระบุเฉพาะหนี้เงินกู้เท่านั้น หนี้อื่น ๆ จำเลยไม่ต้องรับผิด และโจทก์ได้รับชำระหนี้ในกระบวนการชำระหนี้ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินและในกระบวนการของคดีล้มละลายของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด โดยสละประโยชน์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว หนี้ย่อมระงับสิ้นไป จำเลยได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และที่จำเลยฎีกาว่า หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนที่โจทก์เวนคืนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด ถือว่ามีการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินบางฉบับที่นางกุลวดีลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียว กับหนี้การอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนี้ที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้ฝากตามความต้องการและกระทำการแทนกระทรวงการคลัง โดยไม่ได้รับความยินยอมทั้งไม่ได้เกิดจากการแสดงเจตนาของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา จำกัด ไม่ต้องชำระหนี้เงินลงทุนและหนี้เงินนำส่งกองทุนหลังจากถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share