คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นบัญชีพยานระบุชื่อ ว. เป็นพยานโจทก์ และโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 30 ต่อศาลพร้อมกับคำแถลงขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการซักถามพยานบุคคล โดยโจทก์ได้ส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ทนายจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและได้กล่าวไว้ในคำร้องด้วยว่า หากโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ค้าน และขอซักค้านผู้ให้ถ้อยคำในนัดหน้าพร้อมกับสืบพยานจำเลยที่ 3 ซึ่งต่อมาศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยที่ 3 ในนัดหน้า ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลแต่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เมื่อศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ การที่ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะซักค้าน ว. ศาลย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เป็นพยานหลักฐานได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ ว. ที่มาศาลในวันดังกล่าวเข้าเบิกความต่อหน้าศาลอีกตามข้อกำหนด ข้อ 29 วรรคท้าย
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลมิได้ระบุให้ผู้ให้ถ้อยคำต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำ การที่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ไม่มีข้อความของการสาบานหรือปฏิญาณตนของ ว. ก็ไม่ทำให้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เสียไป เพียงแต่เมื่อ ว. มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความจึงจะต้องสาบานหรือปฏิญาณก่อนเบิกความ และโจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ไว้ในบัญชีพยานโจทก์ในฐานะเป็นพยานเอกสาร เพราะถือว่าการส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นกระบวนพิจารณาแทนการสืบพยานบุคคล ดังนั้น เมื่อโจทก์ระบุชื่อ ว. เป็นพยานบุคคลของโจทก์ไว้ในบัญชีพยานของโจทก์แล้ว การที่ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. แทนการที่โจทก์ต้องซักถามตัวพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 69278 และ 69279พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 9,500,000บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เมื่อประมาณปี 2539 ถึงปี 2540จำเลยที่ 1 มาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์รวม 7 ฉบับ เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศรวม 7 ครั้ง เมื่อผู้ขายได้ส่งสินค้าลงเรือและส่งตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บเงินโจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อเรือบรรทุกสินค้าเดินทางมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินค่าสินค้ามาชำระให้แก่โจทก์ แต่ขอทำสัญญาทรัสต์รีซีท รวม 7 ฉบับ เพื่อรับสินค้าออกไปก่อนแล้วจะชำระเงินคืนภายในกำหนดแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามกำหนด รวมหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งเจ็ดฉบับเป็นเงิน 73,093.76 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 9,540,668.72 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน15,609,383.44 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน9,540,668.72 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับว่าได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริงในวงเงินจำนวน 13,000,000 บาท แต่หนี้ทั้งเจ็ดรายการตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยไปแล้วบางส่วน คงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นจำนวน8,800,000 บาท และโจทก์ตีราคาทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 9,500,000บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงสามารถบังคับจำนองเอาแก่หลักประกันของจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ก่อน โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ชอบ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์คิดค่าปรับเป็นดอกเบี้ยสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,609,383.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราผิดนัดลอยตัวตามประกาศธนาคารโจทก์ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน9,540,668.72 บาท นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ก็ให้บังคับจำนองเอาจากที่ดินที่จำนองเป็นประกันหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยค่าทนายความนั้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้จำนวน 10,000 บาท และจำเลยที่ 3 ชดใช้จำนวน 50,000 บาท

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 3 เลื่อนคดีและคำสั่งรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ อรศิริสกุล พยานโจทก์ต่อศาลฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์พ.ศ. 2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ต่อไปว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ อรศิริกุล พยานโจทก์แทนการสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนดไว้เป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 สำหรับกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงในการสืบพยานบุคคลมีระบุอยู่ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 29 และ ข้อ 30 ดังนี้

ข้อ 29 เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานแทนการซักถามผู้ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้

คู่ความที่ประสงค์จะขอเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้นให้ศาลพิจารณากำหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้วคู่ความที่ยื่นไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้น และให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว

ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความหากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้

ในกรณีที่คู่ความตกลงกันให้พยานไม่ต้องมาศาล หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ติดใจถามค้านพยาน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี

ส่วนข้อ 30 กำหนดถึงรายการต่าง ๆ ที่ต้องมีในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง

สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นบัญชีพยานระบุชื่อนายวรพงศ์ อรศิริสกุล เป็นพยานบุคคลของโจทก์ลำดับที่ 2 ตามบัญชีพยานลงวันที่ 8 มีนาคม 2543 และในวันที่ 13 กันยายน2543 โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดข้อ 30 ต่อศาลพร้อมกับคำแถลงขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการซักถามพยานบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ได้จัดส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก วันที่ 21 กันยายน 2543 ทนายจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและได้กล่าวไว้ในคำร้องด้วยว่า หากโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ค้าน และขอซักค้านผู้ให้ถ้อยคำในนัดหน้าพร้อมกับสืบพยานจำเลยที่ 3 ซึ่งต่อมาศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยที่ 3 ในนัดหน้า ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลแต่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ การที่ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะซักค้านนายวรพงศ์พยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้นายวรพงศ์พยานโจทก์ที่มาศาลในวันดังกล่าวเข้าเบิกความต่อหน้าศาลอีกตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ. 2540 ข้อ 29 วรรคท้าย ทั้งในข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลก็มิได้ระบุให้ผู้ให้ถ้อยคำต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำตามบันทึกนั้นแต่อย่างใด การที่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์มิได้มีข้อความของการสาบานหรือปฏิญาณตนของนายวรพงศ์ ทั้งไม่มีลายมือชื่อของบุคคลผู้รับการสาบานหรือปฏิญาณลงไว้ ก็ไม่ทำให้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์เสียไปแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาศาลเพื่อตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ จึงจะต้องสาบานหรือปฏิญาณก่อนเบิกความและโจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ไว้ในบัญชีพยานโจทก์ในฐานะเป็นพยานเอกสาร เพราะถือว่าการส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นกระบวนพิจารณาแทนการสืบพยานบุคคล ดังนั้น เมื่อโจทก์ระบุชื่อนายวรพงศ์เป็นพยานบุคคลของโจทก์ไว้ในบัญชีพยานของโจทก์แล้ว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์พยานบุคคลของโจทก์แทนการที่โจทก์ต้องซักถามตัวพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share