แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในการปล้นทรัพย์คนร้ายใช้กระบอกไฟฉายเดินทางขนาด 3 ก้อนที่มีติดตัวไปตีทำร้ายภรรยาผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม มาตรา 340 จำคุกคนละ12 ปี จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องได้มีคนร้าย 3 คน ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ย-9503 กรุงเทพมหานคร ราคา 160,000 บาท ของนายสนิทไกรสิงห์สม ผู้เสียหายจากบริเวณที่จอดรถหลบหนีไป ในขณะที่มีพวกคนร้ายดังกล่าวอีก 2 คนกรูเข้าไปในที่พักผู้เสียหายแล้วร่วมกันใช้กระบอกไฟฉายที่ติดตัวมาตีทำร้ายร่างกายนางละม้าย ไกรสิงห์สมเป็นเหตุให้นางละม้ายได้รับอันตรายแก่กายรักษาบาดแผล 8 ถึง10 วันหาย รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องคนร้ายได้เอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคา 9,000 บาทและเงินสด 4,000 บาท จากนางละม้ายไปด้วย มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีนายสนิท ไกรสิงห์สม ผู้เสียหาย และนายยนต์ ไกรสิงห์สม เป็นประจักษ์พยาน ต่างเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองนี้กับพวกซึ่งยังจับตัวไม่ได้เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายโดยนายสนิทผู้เสียหายยืนยันว่า เมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งรถของผู้เสียหายตกหลุมอยู่ได้ส่องไฟฉายไปบริเวณเบาะหน้ารถของผู้เสียหาย เห็นจำเลยทั้งสองและนายไพรัชนั่งอยู่ที่เบาะหน้ารถ นายไพรัชเป็นคนขับและจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายไพรัช ส่วนนายยนต์เบิกความว่าเมื่อพยานวิ่งตามผู้เสียหายไปถึงที่เกิดเหตุแล้วไปยืนอยู่ใกล้ ๆ กับผู้เสียหายทางด้านขวาของรถด้านประตูคนขับผู้เสียหายส่องไฟฉายเข้าไปบริเวณเบาะหน้ารถ พยานเห็นชาย 3 คนนั่งอยู่ที่เบาะหน้ารถ เคยเห็นหน้าและรู้จักคนเดียวคือนายแกะจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ตรงกลาง เห็นว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองต่างเบิกความว่าเห็นและจำคนร้ายได้โดยอาศัยแสงไฟฉายที่ผู้เสียหายส่องไปที่เบาะหน้ารถโดยเห็นลักษณะการนั่งของจำเลยทั้งสองและคนร้ายที่ขับรถตรงกัน ทั้งผู้เสียหายรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน ส่วนนายยนต์ก็เคยเห็นหน้าและรู้จักจำเลยที่ 1มาก่อน และผู้เสียหายยังได้พูดขึ้นขณะส่องไฟฉายไปที่คนร้ายว่าพวกมึงหรอกเรอะ อันเป็นการยืนยันว่าผู้เสียหายเคยรู้จักคนร้ายทั้งสามมาก่อน นอกจากนี้นางละม้าย ไกรสิงห์สม เบิกความว่าในคืนเกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุแล้ว ผู้เสียหายบอกพยานว่ารถหายไปแล้วจำคนร้ายได้ 3 คน และบอกชื่อจำเลยทั้งสองกับคนร้ายอีกคนหนึ่งด้วย ซึ่งในตอนเช้าวันเกิดเหตุ นางละม้ายก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายบอกพยานว่าในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายจำคนร้ายได้ทั้งสามคนคือนายแกะหรือผ่อน นายพรและนายไพรัช ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนางละม้าย ไกรสิงห์สม เอกสารหมาย จ.1/1เช่นนี้จึงเชื่อได้ว่าในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายได้บอกนางละม้ายภริยาของตนถึงเรื่องที่เห็นและจำคนร้ายได้ในเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่เกิดเหตุ ย่อมไม่มีเวลาที่จะแต่งเรื่องขึ้นปรักปรำจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกถวัลย์ ยอดย้อย พนักงานสอบสวนเบิกความว่าในตอนเช้าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกา นายสนิทผู้เสียหายได้ไปแจ้งความต่อพยานว่าถูกคนร้ายปล้นทรัพย์โดยระบุว่าจำจำเลยทั้งสองและนายไพรัชได้ว่าเป็นคนร้าย ในวันเดียวกันนั้นเองผู้เสียหายได้พาพยานและนายดาบตำรวจฉลวย กาแก้ว ไปจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ทั้งนายดาบตำรวจฉลวยเบิกความว่าผู้เสียหายได้พาพยานกับร้อยตำรวจเอกถวัลย์ ไปจับจำเลยทั้งสองได้ในวันเดียวกันนั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ที่อำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี โดยจับจำเลยที่ 1 ได้ที่โรงซ่อมรถ และจับจำเลยที่ 2ได้ที่ท่าจอดรถ ดังนี้เห็นว่า พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนระบุว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยทั้งสองได้ในเวลาใกล้ชิดกับเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แม้ประจักษ์พยานทั้งสองจะเบิกความแตกต่างกันบ้างดังเช่นที่จำเลยฎีกาว่านายยนต์เบิกความว่าผู้เสียหายด่าคนร้ายว่า “อ้ายสัตว์พวกนี้เองหรือ”แต่ผู้เสียหายเบิกความว่าผู้เสียหายได้พูดว่า “พวกมึงหรอกเรอะ”ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พยานจะใช้ถ้อยคำแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียงพลความ และฎีกาของจำเลยข้ออื่นก็ทำนองเดียวกัน พยานโจทก์หาได้ขัดกันเป็นพิรุธดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340โดยไม่ระบุวรรคนั้นไม่ถูกต้อง สมควรระบุเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์